กฟผ.คาดปีนี้ PEAK ต่ำกว่าคาดจากสภาพอากาศหนาวเย็น-น้ำท่วมภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เผยสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงนี้ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนนี้มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 4 จากปกติแล้วในช่วงนี้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงมาก ประกอบกับเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(PEAK) ในปีนี้อาจจะต่ำกว่าคาดการณ์ จากเดิมที่คาดว่าพีคจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 เมกะวัตต์(MW) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า จากพีคที่ลดลงเป็นผลดีต่อการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะต่ำกว่าแผน เพราะเดิมคาดว่า ในช่วงปี 2554-2557 สำรองไฟฟ้าจะปรับลลดลง เพราะโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่(IPP) ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน จากเดิมที่คาดว่าในปี 2557 สำรองไฟฟ้าอาจจะลดลงเหลือร้อยละ 9 และทางภาครับได้ปรับแผนเพิ่มเติม ทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายเล็ก(SPP) 3,500 เมกะวัตต์ การเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ วังน้อย และพระนครใต้ จึงทำให้คาดว่า ในปี 2557 สำรองไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพลังงานมีนโยบายจะปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(PDP) 20 ปีใหม่ เพราะเกรงว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินอาจจะล่าช้า หรืออาจไม่เกิดขึ้น ซึ่งทาง กฟผ.ได้เตรียมพร้อมศึกษาหากรัฐบาลให้ กฟผ. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ก็คงจะต้องเน้นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยจะสร้างได้ทันทีที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และพระนครใต้ เพราะมีพื้นที่รองรับอยู่แล้ว แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น และหากมีความเสี่ยงความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จะทำให้ต้นทุนก๊าซฯ สูงขึ้น และกระทบค่าไฟฟ้าในที่สุด และที่สำคัญ ปตท.จะต้องพิจารณาจัดหาก๊าซฯ ให้เพียงพอกับความต้องการของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ด้านนายสหัส ประทักษ์นุกูล รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ถ้าพึ่งพาก๊าซธรรชาติทั้งหมดในอนาคตแล้วก็คาดว่า สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 จากเดิมร้อยละ 70 ซึ่งเป็oความเสี่ยง เพราะเป็นการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สมดุล โดยแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยตามแผนเดิมจะรีบซื้อไม่เกินร้อยละ 25 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการที่เสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินทวายของสหภาพพม่า 3,600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกงของกัมพูชา เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ