(เพิ่มเติม1) สศค.ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 54 โต 4-5% จากการบริโภค-การใช้จ่าย-การลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 อยู่ที่ระดับ 4-5% โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญจะมาจากการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงการลงทุน โดยปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นภายหลังเกิดภัยพิบัติ ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 ยังคงขยายตัวในระดับเดียวกับที่เคยประมาณการไว้เดิมในเดือน ธ.ค.53 ที่ 4-5% โดยเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 7.8% ซึ่งเป็นการปรับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ หลังจากปี 53 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 54 จะมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการใช้จ่ายที่ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 3.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะเกินดุล 3.5% ของจีดีพี

"การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ถือว่ายังมีเสถียรภาพและเป็นการปรับตัวเข้าสู่สมดุลมากขึ้น เพราะเป็นการปรับสมดุลให้อุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นแรงขับดับเศรษฐกิจไปควบคู่กัน" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า การคาดการณ์ของ สศค.ที่คงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 4-5% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5% ตามเดิมนั้น มาจากสมมติฐานสำคัญ 6 ประการ คือ 1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 14 ประเทศคู่ค้าหลักที่บางประเทศมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้ในภาพรวมแล้วพบว่าเศรษฐกิจของ 14 ประเทศคู่ค้าหลักปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จากประมาณการเดิมที่ 3.3%

2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือมีค่าเฉลี่ยที่ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล จากประมาณการเดิมที่เฉลี่ย 83 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และความกังวลในอุปทานน้ำมันที่คาดว่าจะชะลอตัวลง 3.ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าในรูปดอลลาร์ในปี 54 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.6% จากประมาณการเดิมที่ 5.8% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร และราสินค้าเชื้อเพลิงที่เร่งตัวขึ้น 4.ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 30.20 บาท/ดอลลาร์ จากประมาณการเดิมที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ จากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

5. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.25% ในช่วงสิ้นปีนี้ จากประมาณเดิมที่ 3% เนื่องจากความกังวลในอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อต้องการปรับให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับไปสู่ระดับปกติเหมือนในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงิน 6.รายจ่ายภาคสาธารณะในปีงบประมาณ 54 คาดว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2.75-2.78 ล้านล้านบาท ขยายตัว 9.0-10.1% จากปีงบประมาณ 53

นายบุญชัย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/54 ว่า จะขยายตัวได้ราว 2-3% เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากแรงผลักดันของภาคการส่งออก แต่อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศลิเบีย รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/54 จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกปีนี้เช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังคงเติบโตได้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ