รมว.เกษตร ประเมินพื้นที่เกษตรเสียหายจากน้ำท่วมกว่า 7 แสนไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2011 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค 2554 พบว่า มีจังหวัดประสบภัย 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร กระบี่ และสงขลา

เบื้องต้นมีพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกร 111,827 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย 732,655 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 248,899 ไร่ พืชไร่ 38,245 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 445,511 ไร่

สำหรับยางพารา ประมาณการพื้นที่คาดว่าจะเสียหายจากดินโคลนถล่มไม่เกิน 50,000 ไร่ เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้จะลดลงได้อย่างรวดเร็วจะไม่ทำให้ต้นยางพาราที่มีอายุมากไม่เสียหาย

ด้านประมง เกษตรกร 6,082 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ประสบภัย 7,409 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 10,018 ไร่ และ 1,130 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 20,976 ตารางเมตร

และด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 48,759 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 1,915,077 ตัว แบ่งเป็น โค — กระบือ 99,126 ตัว สุกร 112,429 ตัว แพะ 10,977 ตัว สัตว์ปีก 1,692,545 ตัว แปลงหญ้า 4,207 ไร่ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ให้การสนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 43,250 กิโลกรัม และดูแลสุขภาพสัตว์ 929 ตัว พร้อมทั้งได้เตรียมเสบียงสัตว์สำรองที่ศูนย์ฯ/สถานีต่างๆ ที่ใกล้เคียงในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 8 แห่ง รวม 1,120 ตัน จากจำนวนศูนย์ฯ/สถานีต่างๆทั่วประเทศ 29 แห่ง จำนวนเสบียงสัตว์สำรองรวม 5,726 ตัน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดจากฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา ส่งผลทำให้หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังขณะนี้ ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช ที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องวัดปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 605 มม. โดยปริมาณฝนสูงสุดที่ อ.ท่าศาลา เฉลี่ยอยู่ที่ 1,114 มม. และมีฝนตกมากสุดในวันที่ 28 มี.ค.อยู่ที่ 372 มม. จึงส่งผลทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และมีระดับน้ำของลำน้ำสายสำคัญต่างๆเพิ่มสูงขึ้นและไหลเอ่อล้นตลิ่งริมคลองเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร

ขณะนี้ทางจังหวัดกำลังมีการได้ประกาศให้ทุกอำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพิ่มเติมแล้ว และคาดว่าจะมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายอีก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายต่อไป จากพื้นที่ประสบภัยเดิมที่ได้มีการประกาศไว้รวม 20 อำเภอ ซึ่งกรมชลประทานโดยสำนักชลประทานที่ 15 ได้ เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ 52 เครื่อง ส่งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือแล้ว 11 เครื่อง ในเขตเทศบาล และ ส่งเครื่องผลักดันน้ำ 10 เครื่อง ติดตั้งไว้ตามประตูระบายน้ำต่างๆเพื่อสูบน้ำลงทะเล

สำหรับในพื้นที่จังหวัดพัทลุงวัดปริมาณฝนที่ อ.เมือง สะสม 2 วัน(24-25 มี.ค.) สูงสุด 356.9 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ.เมือง. ควนขนุน .ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ ป่าพะยอม กงหรา เขาชัยสน บางแก้ว ป่าบอน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.5-0.8 ม. กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานพัทลุงเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือ 23 เครื่อง

ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 วันที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องวัดปริมาณฝนได้เฉลี่ย 454 มม. โดยวัดปริมาณฝนสูงสุดที่ อ.ดอนสัก สูงสุด 668 มม. โดยวันที่มีปริมาณฝนสูงสุดคือวันที่ 26 มี.ค. อยู่ที่ 425 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่

ส่วนจังหวัดชุมพร เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องวัดปริมาณฝนสูงสุดที่ อ.เมือง สูงสุด 115.0 และจังหวัดสงขลา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องแต่ปริมาณฝนยังไม่มากนัก โดยปริมาณฝน สูงสุดอยู่ที่ 55.1 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำริมทะเลสาบสงขลา 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด กระแสสินธุ์

จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงปกคลุมบริเวณภาคใต้และคาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันนี้ ทำให้ภาคใต้มีฝนชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ต่อไปอีก 1-2 วัน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน จากสภาพอากาศที่แปรปรวนอยู่ในขณะนี้ส่งผลทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นฉับพลันในทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ ทำให้สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรได้รับผลกระทบและความเสียหาย ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รายงานว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 11 อำเภอ 23 ตำบล 103 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งหมด 812 ราย

ส่วนจำนวนสัตว์ที่ได้รับความเสียหายขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจความเสียหายที่แน่ชัดอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบการตายของสัตว์อย่างผิดปกติพบว่า โคที่ตายเป็นโคที่ชาวบ้านเลี้ยงในลักษณะปล่อยหากินเองในป่า ไม่มีที่นอนเป็นหลักแหล่ง ทำให้โคมีสุขภาพอ่อนแอ ดังนั้น สภาพอากาศดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้โคกลุ่มดังกล่าวป่วยและตายได้ และจากการพิสูจน์ซากเบื้องต้นและดำเนินการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ก็ไม่พบเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคระบาดแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ