นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ กรมจะประชุมร่วมกับผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งอาจจะประเมินผลกระทบ ความเสียหาย และความช่วยเหลือเบื้องต้น ที่จะให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ โดยเมื่อปัญหาน้ำท่วมผ่านพ้นไป กรมจะหาตลาดใหม่ให้
ทั้งนี้ กรมจะมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการส่งออกในภูมิภาค(สอภ.) ประจำจ.สุราษฎร์ธานี สอบถามความเดือดร้อน และความต้องการของผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก โดยขณะนี้ สอภ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่ดูแล 8 จังหวัด รายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหาย 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครราชศรีธรรมราช ระนอง ภูเก็ต พังงา และ สุราษฎร์ธานี เป็นผลให้พื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงกุ้ง โรงงานผลิต สถานประกอบการได้รับความเสียหายรุนแรง การจราจรถูกตัดขาด ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าไปยังโรงงานผลิต-ผู้ซื้อ และผู้บริโภคได้
“มีแนวโน้มว่าจะต้องปิดโรงงาน หากน้ำท่วมรุนแรง เพราะขณะนี้พนักงานฝ่ายผลิตมาทำงานเพียง 50% วัตถุดิบที่มีอยู่เสื่อมตามสภาพ อาจส่งผลต่อวัตถุดิบส่งมอบล่าช้า ต่อเนื่องถึงการหยุดรับวัตถุดิบมาผลิต ทำให้ลูกค้าเรียกร้องถึงการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ความมั่นใจ เพราะน้ำท่วมเกิดขึ้นติดๆ กัน 2 ครั้งแล้ว"นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น กุ้ง อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ธุรกิจบริการสปา โรงแรม ท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น โดยเฉพาะกุ้งได้รับความเสียหายทั้งหมด คาดว่าจะขาดแคลนกุ้งสำหรับโรงงานเพื่อผลิตส่งออกและบริโภคในประเทศ ส่วนปาล์มน้ำมัน ที่กำลังเริ่มออกผลผลิต คาดว่าจะเสียหายรุนแรงที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ปลูกเกือบทั้งหมด ขณะที่ผลไม้ ทั้งลองกอง และเงาะ จะเสียหายจนไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด และราคาสูงเป็นเท่าตัว