(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI มี.ค.54 เพิ่มขึ้น 3.14% Core CPI เพิ่มขึ้น 1.62%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2011 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมี.ค.54 อยู่ที่ 110.49 เพิ่มขึ้น 3.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.54 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.54) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.01%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือนมี.ค.54 อยู่ที่ 104.83 เพิ่มขึ้น 1.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.28% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 3 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.46%

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่อยู่ระหว่าง 0.5-3.0% แล้ว ถือว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมี.ค.54 ยังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัยไม่สูงมากนัก

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.นี้ ถือว่าขยายตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้สูงขึ้นมากตามที่สำนักเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์ และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 3.01% ก็ถือว่าต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.09% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐ เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ 3.2-3.7%

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มี.ค.54 อยู่ที่ 127.55 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.87% และเพิ่มขึ้น 0.76% จากเดือน ก.พ.54 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 100.19 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.53% และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.พ.54

นายยรรยง กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค.54 ที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.14% มาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 5.87% จากหมวดข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 4.41% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สูงขึ้น 4.77% และผักผลไม้ สูงขึ้น 17.26% เป็นต้น ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.53% จากหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 2.46% หมวดเคหะสถานสูงขึ้น 1.15% หมวดการบันเทิง การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้น 0.79% เป็นต้น

แต่หากเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมี.ค.54 ที่สูงขึ้น 0.49% จากเดือน ก.พ.54 มาจากราคาสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น เช่น ผักสด ไข่และผลิตภัณฑ์นม เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ อาหารสำเร็จรูป น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ผลไม้สด และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาเพราะอาจจะมีผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ ได้แก่ 1.ราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง 2.ปัญหาภัยธรรมชาติ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และมีผลต่อราคาสินค้าเกษตร เช่น กุ้ง ปาล์ม และยางพารา เป็นต้น 3.ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก และ 4.การปรับขึ้นเงินเดือนทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คาดว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.06% ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.003%

"ทั้ง 4 เรื่องนี้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเงินเฟ้อ แต่จากที่เราประเมินแล้ว เชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปีนี้คงไม่หนีไปจากกรอบเดิมที่เราคาดการณ์ไว้ที่ 3.2-3.7%" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/54 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.45% ซึ่งมีแรงกดดันจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศคือ แนวโน้มราคาผักสดปรับเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ