ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของไตรมาสแรกปี 2554 และมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นอีก อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และการคาดการณ์ที่ว่าญี่ปุ่นจะนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังจากแผ่นดินไหว
เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ตูนีเซียไปจนถึงอียิปต์ และลามไปถึงลิเบีย ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คอร์นี เทอร์เนอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากวอลล์สตรีท สตราเทจิกส์ กล่าวว่า สถานการณ์รุนแรงในลิเบียถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในตลาดน้ำมัน ผิดกับสถานการณ์ในตูนิเซียและอียิปต์ที่การโอนถ่ายอำนาจในตูนิเซียและอียิปต์เป็นไปอย่างราบรื่น จึงทำให้สาธารณูปโภคน้ำมัน การขนส่งและการผลิตน้ำมันในตูนิเซียและอียิปต์ยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่น
แต่สถานการณ์ในลิเบียแตกต่างจากสองประเทศดังกล่าว โดยลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปคที่สามารถผลิตน้ำมันได้ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 2% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก มากกว่าผลผลิตน้ำมันของอียิปต์ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวันอยู่กว่า 3 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น ลิเบียมีบริษัทเอส ไซเดอร์ เป็นตัวหลักในการผลิตน้ำมันดิบคุณภาพสูง ซึ่งทำให้ลิเบียมีจุดแข็งในตลาดจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ เช่นซาอุดิอาระเบีย ไม่สามารถแทนที่ได้
การที่ลิเบียระงับการส่งออกน้ำมันและยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นฟูการส่งออกให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ NYMEX พุ่งขึ้นไปแล้ว 22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ตึงเครียดในลิเบียเมื่อช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีความวิตกว่าความไม่สงบทางการเมืองเริ่มกลายเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในเยเมน บาห์เรน และซีเรีย ที่ยังคงไร้เสถียรภาพจนถึงขณะนี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า สถานการณ์ตึงเครียดอาจจะลุกลามไปยังซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน
"ทันทีที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลง นักลงทุนจะตื่นตระหนกทันที เราคาดว่าการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารของมูอัมมาร์ กัดดาฟี และกลุ่มกบฎต่อต้านกัดดาฟี รวมทั้งความไม่สงบทางการเมืองในประเทศอื่นๆนั้น จะส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุน และจะหนุนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก" เทอร์เนอร์กล่าว
ขณะที่เรย์มอนด์ คาร์โบน เทรดเดอร์อาวุโสในตลาดน้ำมัน NYMEX มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า "ตลาดน้ำมันมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อข่าวที่เกี่ยวข้องกับตะวันออกกลาง"
นับตั้งแต่แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิกระหน่ำญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามด้วยการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ราคาน้ำมันก็ร่วงลงอย่างหนักนับจากนั้น โดยในช่วง 3 วันหลังจากเกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ ก็เกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ส่งผลให้เกิดการเทขายอย่างหนักในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ NYMEX และน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาดลอนดอนร่วงลงกว่า 4%
ทั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก จึงทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้จะทำให้ความต้องการน้ำมันปรับตัวลดลงในเบื้องต้น และอาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงในระยะสั้นๆ
อย่างไรก็ตาม คาร์โบนกล่าวว่า แม้วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นดำเนินมาถึงขั้นรุนแรงที่สุด แต่ราคาน้ำมันก็ไม่ได้ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
"และในระยะยาวนั้น ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นอีก เพราะจากประสบการณ์ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวในจีนเมื่อปี 2551 และคลื่นสึนามิกระหน่ำอินโดนีเซียในปี 2548 พบว่า พื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวเช่นนี้จำเป็นต้องมีการบูรณะฟื้นฟู และจะทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น" คาร์โบนกล่าว
นอกจากนี้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็จะถึงฤดูการขับขี่ยานยนต์ในหน้าร้อนของสหรัฐ ซึ่งจะป็นช่วงที่ความต้องการน้ำมันสูงขึ้น และจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก
บทวิเคราะห์โดย เฉียว จีหง จากสำนักข่าวซินหัว