ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยนักเศรษฐศาสตร์มองภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าเริ่มไม่สดใส เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาลบหลายเรื่องรุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย 3 เดือนข้างหน้า(ส.ค.54) อยู่ที่ 50.63 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ
"การปรับตัวลดลงของดัชนีคาดการณ์เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ปัญหาการเมืองในลิเบีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมถึงปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงเริ่มเข้าสู่ High season" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ส่วนดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งเห็นได้จากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับ 54.82 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 เมื่อพิจารณาในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พบว่า ปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนยังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ
สำหรับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า มีปัจจัยลบ 6 ประการ จากปัจจัยที่ทำการสำรวจ 12 ประการ ได้แก่ ราคาน้ำมัน, ปัญหาการเมืองในลิเบีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา, อัตราเงินเฟ้อทั่วไป, ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น, ปัจจัยด้านการเมือง และภาพรวมเศรษฐกิจโลก ) ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือมองว่าไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ส่วนประเด็นการเมืองซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยังคงมองว่าส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าด้านบวกนั้น กรุงเทพโพลล์ได้สอบถามถึงประเด็นที่ว่าหากมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือน พ.ค.54 นักเศรษฐศาสตร์อยากเห็นพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจในรูปแบบใดแก่ประชาชนมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 73.6 อยากเห็นนโยบายที่เสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ และสังคมไทย อันดับ 2 ร้อยละ 66.7 อยากเห็นนโยบายสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อันดับ 3 ร้อยละ 65.3 อยากเห็นนโยบายที่แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่นโยบายที่อยากเห็นน้อยที่สุด ร้อยละ11.1 คือ นโยบายประชานิยม ได้แก่ พรรคการเมืองแข่งกันเสนอเพิ่มค่าจ้าง/เพิ่มเงินเดือน/เพิ่มราคาประกันสินค้าเกษตร/แก้ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ได้สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 27 แห่ง จำนวน 72 คน เรื่อง "ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย 3 เดือนข้างหน้า" ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย.ที่ผ่านมา