นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณ 5 พันล้านบาทให้ดำเนินมาตรการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ โดยให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ตั้งจุดรับซื้อ ณ โรงสีในท้องที่แหล่งผลิตนั้น ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมของโรงสีในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับผลผลิตข้าวของเกษตรกรไว้แล้ว มีการเปิดจุดรับซื้อแล้ว 48 โรง ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี 15 โรง, พระนครศรีอยุธยา 13 โรง, ชัยนาท 11 โรง, นครสวรรค์ 5 โรง และกำแพงเพชร 4 โรง
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างรอตรวจสอบอีก 39 โรง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 10 โรง, อุตรดิตถ์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 5 โรง และพิจิตร อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 24 โรง
ส่วนราคาเกณฑ์การอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่าง ให้ใช้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ประกาศเป็นเกณฑ์สำหรับการปลูกข้าวในรอบที่ 2 ปี 53/54 ในช่วงวันที่ 4-10 เม.ย.54 ดังนี้ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 8,056 บาท อัตราชดเชยตันละ 2,944 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี ความชื้น 15% ตันละ 9,378 บาท อัตราชดเชยตันละ 2,122 บาท
นายยรรยง ยังกล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จัดเตรียมข้าวสารจำนวน 2-2.5 แสนถุง ขนาดถุงละ 4 กก. เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย โดยเบื้องต้นจะไปแจกที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนจำนวน 5 หมื่นถุง ซึ่งข้าวที่นำมาใช้เป็นข้าวในสต็อกรัฐ และหากไม่เพียงพอก็จะเพิ่มปริมาณจัดส่งไปช่วยเหลืออีกเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี การนำข้าวมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนจะไม่กระทบต่อปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐ เนื่องจากขณะนี้มีข้าวอยู่ในสต็อกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน และขณะนี้อยู่ในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากในช่วงหลังสงกรานต์จนถึงเดือนพ.ค. คาดการณ์ผลผลิต 5.3 ล้านตัน
ส่วนสถานการณ์การสินค้าราคาแพงในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน(คน.) ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าผู้ค้ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอันถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงนี้หรือไม่ ซึ่งหากพบเห็นก็จะมีการตักเตือนก่อน แต่หากยังฝ่าฝืนก็จะต้องถูกดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย