เวิลด์แบงก์ขยับ GDP ไทยปีนี้เป็น 3.7%จาก 3.2%, น้ำท่วมใต้กระทบระยะสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 5, 2011 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฟรดเดริโก้ จิล แซนเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ประจำปี 54 เป็น 3.7% จากมุมมองเดิม 3.2% เนื่องจากมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโต 7.0% จากปีก่อนและผลจากรายได้สินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงจากราคาที่แพงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการขยายตัวอุปโภคบริโภคในประเทศโดยคาดว่าการเติบโตที่ 4.1% อย่างไรก็ตาม ยังได้รวมผลของกระทบจากปัญหาการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้แล้ว

"มุมมองการขยายตัวเศรษฐกิจใหม่ที่ 3.7% ต่อปี แม้จะต่ำกว่าการขยายตัวที่ 7.8% ในปี 53 แต่เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับจีดีพีโดยเฉลี่ยของไทยที่ระดับ 5.5%ก่อนเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกจะเกินขึ้นในปี 51"

สำหรับปัญหาอุทกภัยทางภาคใต้ของไทยมองว่ามีผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้นในทางด้านการเกษตรกรรมและท่องเที่ยว เพราะตามสถิตแล้วปัจจัยทั้ง 2 ตัวจะมีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกมีความกังวลต่อปัญหาการแก้ไขการเร่งของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งถูกกดดันจากแรงขับเคลื่อนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะการขยายตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้การใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แก้ไขปัญหานี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วไปจะส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามาก และกลับเข้าสู่วัฎจักรของเงินเฟ้อรอบใหม่และก็ถูกแก้ไขไปเรื่อยๆ แต่เท่าที่แบงก์ชาติเดินอยู่ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างดีเพราะค่อยขยับดอกเบี้ยไม่ทำแรงเกินไป" นายแซนเดอร์ ระบุ

ในขณะที่ธนาคารโลกมีความกังวลว่าไทยอาจเกิดปัญหาการขาดดุลงบประมาณการคลัง จากนโยบายการอุดหนุนราคาน้ำมัน อาหาร นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมถึงนโยบายประชาภิวัฒน์ เนื่องจากเป็นการหว่านการช่วยเหลือประชาชนในทุกชนชั้น ซึ่งมีผลให้เกิดการใช้งบประมาณที่สูงมากเกินระดับความจำเป็น ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีความจะใช้นโยบายให้ตรงจุดผ่านการช่วยเหลือเฉพาะเช่นกลุ่มประชาชนที่ยากจนในเขตชนบท

นอกจากนั้นไทยยังต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันแทนการอุดหนุนทางด้านราคาโดยเฉพะราคาน้ำมันดีเซลผ่านการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กแต่กลับมีการใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันสูงกว่าภูมิภาคเดียวกัน รวมทั้งมีการหันมาใช้ระบบการขนส่งระบบรางมากขึ้นโดยปัจจุบันไทยมีการใช้งานเพียง2% ของการขนส่งทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ