นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คาดว่า สหรัฐจะจัดอันดับประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐมาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 54 ให้คงการเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ(PWL) ไว้ตามเดิม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือดูแลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ได้ตรงตามความต้องการของสหรัฐฯ
ขณะนี้ท่าทีของสหรัฐมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงว่าก่อนสิ้นเดือนเม.ย.นี้ จะประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชี PWL ต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากสหรัฐโดยเฉพาะภาคเอกชนต่างๆ ยังเห็นว่าประเทศไทยดูแลด้านการปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ไม่เต็มที่ และที่สำคัญสหรัฐยังต้องการให้ไทยรออกกฎหมายเพื่อควบคุมปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยได้ร่างกฎหมายการดูแลทรัพย์สินทางปัญญา 3 ฉบับ เพื่อเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การดูแลป้องกันการลักลอบบันทึกหนังในโรงภาพยนตร์, การเอาผิดกับเจ้าของสถานที่ และกฎหมายการดูแลควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เชื่อว่าเมื่อขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายอาจจะไม่ทันในรัฐบาลชุดปัจจุบันและคงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อ
"การพิจารณากฎหมายในแต่ละฉบับ ต้องอาศัยเวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะดำเนินการป้องกันและปราบปรามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาน้อยลง" นางปัจฉิมา กล่าว
นางปัจฉิมา กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับ PWL เช่นเดิม ทำให้การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หรือการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) อาจมีความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการดูแลปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ที่ยืนยันว่าได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการดำเนินคดีและการจับกุมรวมถึงการปราบปรามถึงผู้ผลิตรายใหญ่และโรงงาน ทำให้จำนวนคดีลดลง แต่จำนวนทางด้านสินค้าที่ละเมิดเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น หลังจากนี้ไปกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยังคงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้น้อยลง รวมถึงเดินหน้ารณรงค์ให้เยาวชนและคนไทยตระหนักถึงการดูแลและคุณประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังต่อไป