นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่า จะมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 60% จากพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การให้ความช่วยเหลือเป็นเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือจำนวน 3,232 ล้านบาท โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้กรอบวงเงินที่เหลืออยู่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่2 พ.ย. 53 และวันที่ 24 ม.ค. 54 จำนวน 1,605.48 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเกษตรกรในครั้งนี้ และอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 1,632.40 ล้านบาท โดยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วมกรณีพิเศษปี 2553 ต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้
"กระทรวงเกษตรฯจะเร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงอย่างแท้จริงหลังน้ำลด เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือถึงมือเกษตรกรโดยเร็ว แต่ในส่วนของเกษตรกรที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ จะไม่มีการผ่อนผันให้เข้ารับการช่วยเหลือจากภาครัฐในครั้งนื้ได้" รมว.เกษตร กล่าว
2.การให้ความช่วยเหลือในมาตรการด้านการเงินให้แก่เกษตรกร โดยธนาคารกรุงไทย (KTB) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ให้ความช่วยเหลือในการลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น ผ่อนผันการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงจำหน่ายลูกหนี้เป็นหนี้สูญกรณีเสียชีวิตจากอุทกภัย และให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพในอัตราไม่เกินรายละ 1 แสนบาท
นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการมอบถุงยังชีพ และการให้ความช่วยเหลือด้านเสบียงอาหารสัตว์ในครั้งนี้แล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินยังได้มีการมอบปัจจัยการปรับปรุงบำรุงดินหลังน้ำลด ตามแผนการฟื้นฟูคุณภาพดินและน้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อเร่งเข้าไปฟื้นฟูคุณภาพดินให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้สามารถทำการเพาะปลูกหลังน้ำลดได้ทันทีอีกด้วย