ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP Q2/54 ชะลอตัวกว่าคาด, ทั้งปีเหลือโต 3.0-4.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2011 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปีอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 และกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ล่าสุดที่ส่งผลกระทบรุนแรงในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา สตูล และนราธิวาส ขณะที่จังหวัดที่เหลือบางจังหวัดมีความเสียหายด้านเส้นทางคมนาคมบ้างแต่ไม่มากนัก

ทั้งนี้ 10 จังหวัดของภาคใต้ดังกล่าวมีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 8 ของจีดีพีของประเทศ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรกว่าร้อยละ 30 ของผลผลิตทางการเกษตรโดยรวม และหากพิจารณาเฉพาะสินค้าประมง นับว่าเป็นแหล่งผลิตถึงเกือบร้อยละ 60 ของประเทศ ความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจึงนับว่ามีผลอย่างมากต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์อุทกภัยในภาคใต้ มีมูลค่าประมาณ 18,900-35,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากจะมีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้ามาเพื่อช่วยเหลือและบูรณะฟื้นฟูความเสียหาย ทำให้คาดว่าผลกระทบโดยสุทธิแล้วอาจจะทำให้จีดีพีในปี 2554 ลดลงประมาณร้อยละ 0.09-0.16

แม้ว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 1/2554 น่าที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) แม้ว่าผลของฐานที่สูงในปีก่อนจะทำให้อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีระดับต่ำเพียงร้อยละ 2.0 (YoY) ก็ตาม

โดยทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2554 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของการส่งออก การขยายตัวในภาคการลงทุน และรายได้ในภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก จากการที่ภาครัฐขยายระยะเวลาใช้มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการตรึงราคาพลังงานออกไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้มีปัจจัยนอกเหนือความคาดหมายที่โหมกระหน่ำเข้ามาจากหลายทิศทาง ทั้งปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศอาหรับ ที่ลุกลามและยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ซึ่งมีการพึ่งพาชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีสูงและวัตถุดิบคุณภาพสูง (เช่น เหล็ก เคมีภัณฑ์) จากญี่ปุ่น โดยการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบสำคัญที่ไม่สามารถนำเข้าทดแทนจากแหล่งอื่นได้ ทำให้อุตสาหกรรมไทยที่มีความเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนในญี่ปุ่นต้องชะลอการผลิต ในอีกด้านหนึ่ง ผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายจากน้ำท่วมอาจทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นกระทบระยะสั้น (ถึงเดือนเมษายน) การผลิตในภาคอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 2/2554 จากที่หดตัวในไตรมาสแรก แต่ในกรณีที่ปัญหายืดเยื้ออาจทำให้การผลิตหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI (Manufacturing Production Index) ของไทยในไตรมาสที่ 1/2554 อาจหดตัวประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่คาดการณ์ในไตรมาสที่ 2/2554 อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 2.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วงจังหวะที่เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่ภาครัฐใช้ในการตรึงราคาพลังงาน อาจไม่มีเหลือพอที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปหลังจากเดือนเมษายน 2554 นี้ ซึ่งคงเป็นโจทย์เชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลในการตัดสินใจต่อแนวนโยบายด้านราคาพลังงานในระยะต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจหาแนวทางที่จะชดเชยราคาพลังงานต่อไป แต่อาจมีการขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้ขึ้นสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ประเด็นด้านราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาสภาพอากาศอันเลวร้ายนี้ จะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

จากแรงกดดันที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2554 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0-1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 0.5

อย่างไรก็ตาม ผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่เริ่มต่ำลง ทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2554 ที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน น่าที่จะสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-3.5 (YoY) โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยลบจากปัญหาในญี่ปุ่นและเหตุการณ์อุทกภัยใต้น่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่ปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศอาหรับยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงกว่ากรอบที่ประมาณการไว้ ขณะที่ปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตพืชผลทางการเกษตรในปีนี้

"ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางการส่งออกนั้นยังมีปัจจัยที่อาจหนุนให้ตัวเลขมูลค่าการส่งออกทั้งปีออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งปัจจัยด้านราคา และกลับมาเร่งตัวของภาวะการผลิตและการส่งออกในครึ่งปีหลัง รวมทั้งต้องติดตามความต้องการสินค้าหลายประเภทจากญี่ปุ่น ซึ่งอาจกลายมาเป็นแรงส่งต่อการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ