เอแบคโพลล์ เผยผู้บริโภครู้สึกสถานการณ์เศรษฐกิจ Q1/54 แย่ลงจาก Q4/53

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2011 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยเอแบคผลผลวิจัยเชิงสำรวจ โครงการดัชนีความรู้สึกผู้บริโภคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลสำรวจไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมากับไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า จำนวนของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน “แย่ลง" มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 58.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 เป็นร้อยละ 70.8 ในไตรมาสแรกของปี 2554

เมื่อถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า จำนวนผู้บริโภคที่ระบุว่า “แย่ลง" มีสัดส่วนมากขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 41.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 61.1 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ จำนวนคนที่บอกว่า “ดีขึ้น" มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 20.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 เท่านั้น

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า รายได้ปัจจุบันของผู้บริโภคที่ระบุว่า “แย่ลง" มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 54.1 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ คนที่บอกว่ารายได้ปัจจุบัน “ดีขึ้น" มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 8.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ระบุว่า รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะ “ดีขึ้น" มีสัดส่วนลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 18.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ผู้บริโภคที่ระบุว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะ “แย่ลง" มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 44.8

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงโอกาสที่จะหางานทำในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้บริโภคที่ถูกศึกษาคือร้อยละ 67.4 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และร้อยละ 68.6 ในไตรมาสแรกของปีนี้ระบุ “หางานได้ยากขึ้น" และเมื่อถามถึงโอกาสหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้บริโภคที่ระบุว่า “ยากขึ้น" มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 66.9 ในไตรมาสแรกของปีนี้

สำหรับราคาสินค้าอุปโภค บริโภคในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้บริโภคที่คาดว่าราคาจะสูงขึ้น มีจำนวนเพิ่มจากร้อยละ 78.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปีทีแล้ว มาอยู่ที่ร้อยละ 87.3 ในไตรมาสแรกของปีนี้

เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มอาชีพ 5 อันดับแรกที่ระบุว่ารายได้ปัจจุบัน “แย่ลง" มากที่สุดหรือร้อยละ 59.7 ได้แก่ กลุ่มอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป รองลงมาคือ ร้อยละ 59.1 ได้แก่กลุ่มอาชีพ ค้าขาย อันดับที่สามหรือร้อยละ 57.6 ได้แก่ กลุ่มคนว่างงาน อันดับที่สี่หรือร้อยละ 51.5 ได้แก่ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ และอันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 50.2 ได้แก่ เกษตรกร/ประมง ตามลำดับ แต่กลุ่มที่มีจำนวนคนที่ระบุว่ารายได้ “แย่ลง" น้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ร้อยละ 43.2 และกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 34.7 ตามลำดับ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเอแบค ได้สำรวจกรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 2,453 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม — 6 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ