นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่า แหล่งบงกชใต้จะมีการติดตั้งแท่นกระบวนการผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายนนี้ และจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คอนเดนเสท 18,000 บาร์เรล/วัน น้ำ 20,000 บาร์เรล/วัน
ส่วนแหล่งปลาทอง 2 มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่มีกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอท่อส่งก๊าซฯ ของบมจ. ปตท. (PTT) เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนก๊าซฯที่รับซื้อจากพม่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ในระหว่างการพิจารณาศึกษาเรื่องการผลิต Shale Gas ในประเทศไทย โดยเป็นการผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน ซึ่งขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกามีการพบ Shale Gas ในปริมาณสูง จนล้มเลิกแผนการก่อสร้างคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการนำเข้า LNG โดยพบปริมาณสำรองสูงถึงประมาณ 200-500 ล้านล้านลบ.ฟ.และมีแนวโน้มจะส่งออกในอนาคต
โดยในประเทศไทยมีแผนจะศึกษาในแหล่งภูพระ จ.สกลนคร ซึ่งแหล่งนี้ บริษัท เอสโซ่ เคยขุดเจาะปิโตรเลียมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ พบเพียงชั้นหินดินดานขนาดใหญ่ และกำลังหารรือกับ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ว่าจะมีความเป็นไปได้ในการศึกษาในแหล่งสิริกิติ์ หากพบก็จะเป็นความหวังใหม่ในการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมการพลังงานทหาร ศึกษาเรื่องการสำรวจก๊าซฯ ในถ่านหินหรือ Coal Based Methane (CBM) ซึ่งจะศึกษาในแหล่งน้ำมันฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกรมการพลังงานทหารเคยมาหารือและพบว่าในชั้นถ่านหินมีแนวโน้มอาจจะพบ CBM
ปัจจุบันประเทศไทยสามารถจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งภายในประเทศ ทั้งบนบกและในทะเล โดยมีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 3,000 ล้านลบ.ฟ./วัน ก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 98,400 บาร์เรล/วัน และน้ำมันดิบประมาณ 133,000 บาร์เรล/วัน แบ่งเป็นแหล่งในทะเล มีการผลิตก๊าซธรรมชาติ 2,800 ล้านลบ.ฟ/วัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 400 บาร์เรล/วัน น้ำมันดิบ 23,000 บาร์เรล/วัน ในขณะที่มีการนำเข้าก๊าซฯ จากประเทศสหภาพพม่า ประมาณ 1,000 ล้านลบ.ฟ./วัน
นายทรงภพ กล่าวถึงเงินค่าภาคหลวงในครึ่งปีงบประมาณว่า สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 22,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10% หรือที่จัดเก็บได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนทั้งปีงบประมาณ 2554 คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 45,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จัดเก็บได้ประมาณ 42,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนจะมีการนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในการชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียม (LPG) หรือไม่นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งแนวทางในการดำเนินการสามารถทำได้ทั้งในส่วนของการตั้งเป็นงบประมาณหรืออาจจะใช้วิธีการแก้กฎหมายปิโตรเลียม เพื่อนำเงินมาอุดหนุนแอลพีจีก็ได้