จนท.อาวุโส-ธ.กลางอาเซียนหารือแนวทางรับมือแรงกดดันเงินเฟ้อ-ปัจจัยท้าทายต่อศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2011 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เปิดเผยถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : AFDM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : AFDM+3) ระหว่างวันที่ 5-7 เม.ย.54 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

ที่ประชุมร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้รายงานต่อที่ประชุมฯ ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคว่ายังคงมีการขยายตัวได้ 5.7 - 6.4% ซึ่งมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความเปราะบางทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1.ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสถานการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นสายการผลิตสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ 2.ความกดดันของภาวะเงินเฟ้อ 3.ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และ 4.ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายในการบริหารจัดการภาวะเงินเฟ้อที่มีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและน้ำมัน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคในปัจจุบัน โดย ADB และ IMF ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่เข้มงวดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมฯ ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการดำเนินนโยบายการเงินการคลังจะต้องเป็นไปโดยมีความสมดุลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในการดำเนินโยบายการเงินผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาถึงการเพิ่มภาระทางด้านต้นทุน โดยเฉพาะแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย

สำหรับการแก้ปัญหาแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวนั้น จะต้องดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันของภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนของอุปทานและให้ความสำคัญต่อการลงทุนในโครงการที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก

การประชุม AFDM ยังได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการเงินการคลังของอาเซียนด้านต่างๆ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุม รมว.คลังอาเซียน เพื่อพิจารณาในวันที่ 8 เม.ย.54 เช่น ความคืบหน้าของการดำเนินการตาม Roadmap for Financial and Monetary Integration ภายใต้ AEC Blueprint ในด้านการพัฒนาตลาดทุน, การเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย และการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน และระบบการชำระราคาและการส่งมอบระหว่างธนาคารกลางอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำหนดไว้ในปี 58

ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานด้านการประกันภัย ด้านศุลกากร และการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund : AIF) และการจัดงาน ASEAN Finance Ministers’ Investors Seminar (AFMIS) เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานด้านภาษี (ASEAN Forum on Taxation) ซึ่งจะช่วยให้มีการประสานนโยบายด้านภาษีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาเซียนให้ความเห็นชอบต่อไป

ส่วนการประชุม AFDM+3 ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือ รมว.คลังอาเซียน+3 ดังนี้ 1.ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย [Asian Bond Markets Initiative (ABMI)] โดยเฉพาะความคืบหน้าในการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งเป็นกองทุนค้ำประกันพันธบัตรให้แก่ภาคเอกชน เพื่อช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสามารถระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมฯ ได้เร่งรัดให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของ CGIF โดยเร็ว เพื่อให้ CGIF สามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในเดือนพ.ค.54

พร้อมทั้ง รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) และได้สรุปแนวทาง (Operational Guidelines) การเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM โดยการกำหนดรายละเอียดและขั้นตอนที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความตกลง CMIM เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่สมาชิกประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น

และที่ประชุม AFDM+3 ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ที่จะจัดตั้งที่สิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และติดตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาค และให้ความสนับสนุนด้านข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้ความตกลง CMIM ซึ่งคาดว่าจะเปิดสำนักงานได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ รวมทั้งเห็นชอบให้นาย Wei Benhua จากประเทศจีน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ AMRO ในปีแรก และเห็นชอบให้นาย Yoichi Nemoto จากญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในปีที่ 2 และ 3

เนื่องจากในปัจจุบันความร่วมมือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มต่างๆ ของอาเซียน+3 มีความคืบหน้าอย่างมากและได้มีผลสำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะความสำเร็จของ CMIM ประเทศสมาชิกจึงสนับสนุนให้มีการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคในอนาคต (Future Priorities of ASEAN+3 Financial Cooperation) โดยให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือใหม่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค 2.การใช้เงินสกุลของภูมิภาคสำหรับการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค และ 3.การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ