ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเปิดโอกาสให้นานาชาติเข้าร่วมประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) 3 เส้นทาง นอกเหนือจาก 2 เส้นทางที่จะเป็นการลงทุนจากจีน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ Public Private Partnerships(PPP)
"นอกจากที่ได้มีการหารือร่วมกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเบื้องต้นใน 2 เส้นทางแล้ว เห็นควรให้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจากทุกประเทศสามารถเข้ามาประกวดราคาในการร่วมดำเนินโครงการในเส้นทางที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี" เอกสารเผยแพร่ของสำนักโฆษก ระบุ
สำหรับขอบเขตการดำเนินงานของรถไฟความเร็วสูงที่มากกว่า 250 กม./ชม.ในต่างประเทศจะใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตประเทศไทยจะดำเนินการให้สามารถใช้กับการขนส่งสินค้าด้วย เพื่อให้การลงทุนเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น โดยอาจต้องมีการออกแบบความเร็วในการให้บริการที่เหมาะสม รวมทั้งแนวเส้นทางที่จะดำเนินการด้วย
หากจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการควรจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องที่ดินที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะในเส้นทางที่เขตทางรถไฟไม่เพียงพอ และต้องทำการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนที่เข้าร่วมลงทุน พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้โครงการ(Feasibility Study) ในการพัฒนาเส้นทางเพื่อการขนส่งสินค้า รวมทั้งศึกษาถึงความเหมาะสมของกำหนดเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองไปจนถึงจังหวัดตราด เพื่อรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าชายแดน และทั้งศึกษาความเหมาะสมของโครงสร้างการบริหารจัดการระบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศ และการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่เหมาะสมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานในเดือน ก.พ.54 ตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2553-2557(เพิ่มเติม) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 เม.ย.53 ที่ประชุมฯ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางน้ำเพิ่มเติม และส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนหัวรถจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตรถจักรด้วย ในส่วนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท.ควรมีการจัดทำแผนดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะการพัฒนาทางคู่ในเส้นทางภาคใต้เชื่อมโยงระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย และหาดใหญ่ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประกอบการวางแผนการขนส่งสินค้าในอนาคตควบคู่ไปด้วย
และควรพัฒนาเส้นทางรถไฟในเส้นทางทุ่งสง-ท่าเรือกันตัง เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรพิจารณาเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงระหว่างชุมพรไปยังท่าเรือระนอง เพื่อพัฒนาเป็น land bridge ของภาคใต้ตอนบน ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ท่าเรือระนอง เพื่อเป็นประตูการขนส่งทางทะเลไปยังประเทศในอ่าวเบงกอล
ส่วนแนวทางการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ของประเทศจากการศึกษาข้อมูลของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ประชุมฯ เห็นว่าควรมีการศึกษาแนวทางการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและทางอากาศของภูมิภาคที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงแผนการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือของประเทศในภูมิภาค และกำหนดบทบาทระหว่างระบบท่าเรือในภาคใต้ของไทยและท่าเรือของประเทศมาเลเซีย เพื่อให้การลงทุนพัฒนาท่าเรือในพื้นที่ภาคใต้เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งการพิจารณาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันภาครัฐควรกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดเล็กของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่จากต่างประเทศได้ รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมเงินทุนในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการให้บริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1)กระทรวงคมนาคม ควรพิจารณากำหนดเป้าหมายและตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของประตูการค้าหลักของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในพื้นที่ท่าเรือและท่าอากาศยาน รวมทั้งระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล/เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับการขนส่งเชื่อมต่อกับกระบวนการนำเข้าส่งออก
2)คณะอนุกรรมการการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการสำหรับการนำเข้า การส่งออก และโลจิสติกส์ เร่งผลักดันการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการนำเข้าส่งออก การออกใบรับรองและใบอนุญาต และการขนส่งโลจิสติกส์ (Simplification of Process) พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
3)กระทรวงพาณิชย์ เร่งส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยกับต่างประเทศ พร้อมกับการสร้างช่องทางการกระจายสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ และ4)กระทรวงอุตสาหกรรม สศช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรวางแผนพัฒนาพื้นที่ในลักษณะบูรณาการเป็นชุมชนเศรษฐกิจน่าอยู่ (Green Economic Community) โดยให้ความสำคัญกับมิติทางสังคม แนวทางการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ รวมทั้งการสร้างกลไกประสานงานตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมโครงการ
ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาเรื่องแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าทางถนนของไทย โดยที่ประชุมฯ เห็นว่า ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางในการผลิตกำลังคนด้านการขนส่งสินค้าทางถนนของไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนจำนวนพนักงานขับรถ และเป็นการยกระดับมาตรฐานอาชีพ รวมทั้งการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานขับรถในอนาคต ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนส่งต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมพนักงานขับขี่ และการบำรุงรักษารถตามกำหนดระยะเวลา การเคร่งครัดเรื่องน้ำหนักบรรทุกรถตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดต้นทุนการขนส่งในภาพรวม รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาทบทวนแนวการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพของยานพาหนะ ควบคู่ไปกับการกำหนดน้ำหนักบรรทุกของรถตามกฏหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบข้อเสนอกรอบแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการขนส่งสินค้าทางถนนของไทย และแนวทางการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนนของไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้ 1)มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาจุดพักรถบรรทุกให้ครอบคลุมเส้นทางการขนส่งสินค้าสายหลักของประเทศ 2)มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการยกระดับทักษะฝีมือพนักงานขับรถบรรทุกให้ได้มาตรฐาน และขยายผลการพัฒนาในวงกว้างให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด 3) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ
และได้พิจารณาเรื่องการดำเนินการรองรับผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 18 ณ นครโยโกโฮมา ญี่ปุ่น โดยที่ประชุมฯ เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานควบคู่ไป พร้อมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การพัฒนาระบบ NSW เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมเห็นชอบแนวทางดำเนินการเพื่อเตรียมการให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของเอเปคตามที่ สศช.เสนอ ดังนี้ 1)มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ และกรมศุลกากร ประสานกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) เพื่อพิจารณารายละเอียดกำลังคนที่ต้องการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบ NSW 2) มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศึกษาปัญหาและแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนกรมศุลกากรและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการ ให้การจัดตั้งระบบ NSW แล้วเสร็จตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ.2553-2558 และ 3)มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม รายงานผลการดำเนินงานความพร้อมทางกายภาพและสมรรถนะการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง และกลุ่มกฎระเบียบและกลไกขับเคลื่อน เพื่อจัดทำเป็นแผนการติดตามการดำเนินงานที่สมบูรณ์ต่อไป