ก.อุตฯ เร่งผลักดัน SMEs ใช้ Cloud Computing ปกป้องไอทีจากความเสี่ยงภัยพิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2011 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Enhancing SMEs Competitiveness Through IT) หรือ ECIT เพื่อเพิ่มศักยภาพของ SMEs ไทยให้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยนำระบบ Cloud Computing หรือการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในระบบเช่า ถือเป็นทางออกใหม่ในการปกป้องระบบไอทีในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเกิดจากภัยพิบัติในหลายกรณีเช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ฯลฯ

เนื่องจากโครงการ ECIT จะนำเซิร์ฟเวอร์ที่บันทึกซอฟต์แวร์ด้านการบริหารงาน รวมทั้งข้อมูลต่างๆ เก็บรักษาไว้ในศูนย์อินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีมาตรฐานสากล และมีระบบป้องกันที่ดีเยี่ยม ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยกว่าการที่ SMEs นำไปเก็บรักษาเองที่โรงงานหรือบริษัทแล้ว ยังประหยัดต้นทุนในเรื่องการจ้างบุคลากรและการสร้างสถานที่ในการดูแลรักษาเฉพาะอีกด้วย

โครงการ ECIT นั้นพิสูจน์แล้วว่าการนำไอทีไปใช้ในโรงงานหรือบริษัทของ SMEs จะช่วยลดต้นทุนโดยรวมเฉลี่ยได้ถึงเกือบ 50 ล้านบาทต่อปีโดยวัดจากการสำรวจผู้เข้าร่วมโครงการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (จำนวน 200 บริษัท) และเชื่อว่าการลดต้นทุนจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจะสมบูรณ์เมื่อทาง SMEs ลงโมดูลทางด้านซอฟต์แวร์อย่างครบวงจร

ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังจะเร่งผลักดันให้ SMEs ในไทยเร่งปรับตัว ด้วยการนำระบบไอทีที่ทันสมัยและผลิตโดยคนไทย ผ่านระบบ Cloud Computing ซึ่งนอกจาก SMEs จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีแผนการตลาดออนไลน์เข้ามาสนับสนุน โดยได้ทำระบบ e-marketplace รองรับ และพร้อมจะเชื่อมต่อระบบผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งระบบ e-marketplace จะเป็นระบบการค้าออนไลน์แบบ B2B (Business to Business) เพื่อเป็นช่องทางให้ SMEs เพิ่มศักยภาพทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่ระบบ Cloud Computing ได้ถูกจัดให้เป็น 10 เทคโนโลยีที่สุดยอดและได้รับความนิยมมากสุดในระดับโลก ซึ่งทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เห็นทิศทางนี้เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และได้บุกเบิกลงทุนสร้างระบบ Cloud Computing ของ SMEs ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งส่งผลให้การใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศจากกลุ่มผู้ประกอบการมีมากขึ้นถึง 5% จากมูลค่าโดยรวม 32,600 ล้านบาท

จากการสำรวจของเนคเทคในปีนี้ที่ผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2553 ซึ่งมีการขยายตัวร้อยละ 7.86 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีการขยายตัวร้อยละ 13.8 และ 4.8 ตามลำดับ มีผลต่อความเชื่อมั่นและรายได้ของผู้บริโภคซึ่งอาจนำไปสู่การใช้จ่ายด้าน IT มากขึ้นด้วย จะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งและโลจิสติกส์ พลังงาน ฯลฯ มีแนวโน้มการใช้จ่าย ทางด้านไอทีเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการ ECIT จะเป็นตัวเข้าไปรองรับความต้องการดังกล่าวได้ทันที

สำหรับโครงการ ECIT ในปี 3 หรือปี 2554 นี้มีแตกต่างจากเดิมคือ ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มมีความหลากหลายทั้งในด้านชนิดของอุตสาหกรรม และด้านพื้นที่การใช้งานที่กระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายได้เริ่มใช้งานโมดูลเชิงลึกที่มากขึ้น เป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ ในด้านผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ โครงการ ECIT ได้ผลักดันให้ชนิดของซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่เน้น ERP หรือ Enterprise Resource Planning เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ซอฟต์แวร์ทางด้าน CRM, Collaborative ฯลฯ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการ SMI ในหลากหลายรูปแบบ

ส่วนเป้าหมายของปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมที่เป็น SMEs จำนวน 150 ราย และมีซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่เข้าร่วม 20 ราย โดยใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท คิดเป็น SMEs ในกทม.และปริมณฑล กับในต่างจังหวัดสัดส่วน 70 : 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นโครงการผลักดันให้เกิดระบบ B2B หรือการซื้อขายสินค้าอุตสาหกรรมผ่านออนไลน์ จะมีการผลักดันมากขึ้น โดยเพิ่มระบบทางด้าน Social Media และอาศัยการเติบโตของโลก Smart Phone ทำการขยายฐานการใช้งาน เพื่อทำให้การซื้อขายทำได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงตัวผู้บริโภคทันที เป้าหมายการซื้อขายในปีนี้อยู่ที่ 100 ล้านบาท และจะมีอุตสาหกรรมเข้าร่วม 1,000 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ