ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งรับข่าวสภาคองเกรสไฟเขียวงบประมาณสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 12, 2011 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและสกุลเงินอื่นๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 เม.ย.) เพราะได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่าสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีวัดภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.35% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.4428 ยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.4478 ยูโร และขยับขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9063 ฟรังค์ จากระดับ 0.9058 ฟรังค์

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้น 0.20% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ระดับ 1.6349 ปอนด์ จากระดับ 1.6382 ปอนด์ แต่อ่อนตัวลง 0.08% เมื่อเทีบกับเงินเยนที่ระดับ 84.630 เยน จากระดับ 84.700 เยน

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.67% แตะที่ 1.0490 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0561 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.47% แตะที่ 0.7787 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7824 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพราะมีความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น หลังจากสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐไม่ต้องปิดทำการเพราะขาดงบประมาณ

การที่สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในเรื่องดังกล่าวทำให้ทางการสหรัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจได้ตามกำหนดในสัปดาห์นี้ รวมถึงข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนก.พ., งบประมาณของรัฐบาลกลางเดือนมี.ค., ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.พ., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค., ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.และดัชนีความเชื่อมั่นขั้นต้นเดือนเม.ย.

ค่าเงินเยนได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินเยนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น โดยเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.1 ริกเตอร์ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น และทางสำนักงานได้ประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่จะประกาศยกเลิกคำเตือนดังกล่าวในเวลาต่อมา

ส่วนค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรป หลังจากรัฐบาลโปรตุเกสได้ยื่นขอความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างเป็นทางการจากไอเอ็มเอฟ ขณะที่ไอเอ็มเอฟยืนยันความพร้อมที่จะช่วยเหลือโปรตุเกส และเตรียมประเมินปัจจัยทางเทคนิคเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันของโปรตุเกสในเร็วๆนี้

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรปยังคงกดดันสกุลเงินยูโร แม้นายวูล์ฟกัง ชูเบิล รมว.คลังเยอรมนีระบุว่า ความเสี่ยงของวิกฤติหนี้ยูโรโซนที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆที่นอกเหนือไปจากกรีซ, ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ได้ลดน้อยลงอย่างมากแล้วก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ