รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีวาระสำคัญ คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมเสนอต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน จากที่จะหมดอายุในวันที่ 19 เม.ย.นี้ โดยยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
นอกจากนี้ ครม. จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ เตรียมอนุมัติและสนับสนุนงบประมาณเฉพาะหน้าครอบครัวละ 5,000 บาท และงบประมาณในการฟื้นฟูสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เบื้องต้นประมาณหมื่นล้านบาท
กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติม โดยเบื้องต้นเป็นการให้สินเชื่อแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่อยู่อาศัยความเสียหายผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นกรณีพิเศษ และงบประมาณในการฟื้นฟูสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม กระทรวงพาณิชย์ เสนอแผนเยียวยาและผ่อนปรนให้กับธุรกิจในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีจำนวนบริษัทนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบ 27,561 ราย คิดเป็นทุนจดทะเบียน 188,757 ล้านบาท โดยจะขออนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR -3% พร้อมทั้งผ่อนผันการชำระคืนเงินต้น 1 ปี แต่ละรายสามารถกู้ได้ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี
นอกจากนี้ จะเสนอมาตรการแก้ปัญหาราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกร โดยจะทำโครงการปุ๋ยธงฟ้า ประมาณ 1 แสนตัน ในสูตร 46-0-0 จำหน่วยในราคาเดิมคือ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน หรือ 550 บาทต่อถุง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เสนอร่าง พ.ร.บ. กองทุนสวัสดิการชาวนา พ.ศ...เพื่อสร้างหลักประกันพื้นฐานที่จำเป็นในการส่งเสริมความมั่นคงให้แก่ผู้ประกอบอาชีพทำนา ให้ชาวนามีสวัสดิการในยามชราภาพ ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ตลอดจนสวัสดิการด้านอื่นๆ
กระทรวงคมนาคม จะเสนอครม. พิจารณาจัดสรรเงินกู้จำนวน 1,860 ล้านบาท ให้บริษัท รถไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริหารงานภายในบริษัท โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน และรับภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินรวมถึงให้นำส่วนที่กระทรวงการคลังรับภาระบันทึกเป็นทุนของบริษัทเสมือนเป็นการเพิ่มทุนของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.
กระทรวงยุติธรรม เสนอให้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า 2542 โดยเห็นควรให้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้ ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการเหมือนธุรกิจเอกชน ในธุรกิจการเงิน พลังงาน สื่อสารคมนาคมและบริการขนส่ง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นบริษัทจำกัดมหาชน โดยให้ดำเนินกิจการตามกฎหมายเช่นเดียวกับธุรกิจเอกชนด้วย
กรมสรรพสามิต เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงฐานการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงาน (ซีไอเอฟ) เป็นราคาขายปลีก
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอให้ ครม.พิจารณา มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 3 การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งสาระสำคัญขอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการควบคุมการตลาด อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่ เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551 โดยใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เป็นเครื่องมือและสร้างการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การปฏิบัติ
นอกจากนี้ จะเสนอขยายสิทธิการลาคลอด และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการลาคลอดให้เป็น 180 วัน (จากเดิม 90 วัน) รวมถึงการได้รับค่าจ้างระหว่างลา ในกรณีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้จัดมาตรการหรือสวัสดิการในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แก่สตรีที่คลอดบุตร และอยู่ระหว่างการให้นมบุตรในสถานประกอบกิจการและสถานที่ทำงาน รวมทั้งพิจารณามาตรการการลดหย่อนภาษี และการประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการที่เป็นแบบอย่างของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่