นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทยได้ขยายออกไปทั่วประเทศ เกษตรกรเจ้าของสวนยางมีทั้งที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ และใช้ทุนส่วนตัวปลูก ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รวมกว่า 3.14 ไร่ แต่เกษตรกรเปิดกรีดต้นยางที่เจริญเติบโตต่ำกว่ามาตรฐานเปิดกรีดถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกทั้งภูมิภาค โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 220 กก./ไร่/ปี ถ้าเกษตรกรกรีดยางต้นเล็ก ในขณะที่ยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 - 2556 ตั้งเป้าหมายให้ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศจะต้องเพิ่มเป็น 306 กก./ไร่/ปี ในปี 2556 นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีอายุการใช้ประโยชน์จากต้นยางสั้นลงมากกว่าร้อยละ 53 ของอายุที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ จากผลวิจัยของสถาบันวิจัยยางมีเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยทางวิชาการได้ถึง 420 กก./ไร่/ปี ดังนั้น เพื่อรองรับการส่งเสริมการปลูกยางพาราของกระทรวงเกษตรฯ และเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางเกี่ยวกับการบำรุงรักษาสวนยาง การเปิดกรีดยาง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา การแปรรูป และการตลาดยางพารา จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร โดยการให้ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบำรุงรักษาสวนยางและการเพิ่มผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ในการเพิ่มผลผลิต การแปรรูป และการตลาดยางพารา เทคโนโลยีในการบำรุงรักษาสวนยางให้เจริญเติบโตได้มาตรฐาน
"ถือเป็นโอกาสดีที่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจะได้นำความรู้และเทคโนโลยีจากการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพการทำสวนยาง เพื่อสร้างรายได้ และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ อันจะส่งผลให้เศษฐกิจในพื้นที่มีความเข้มแข็งและเจริญเติบโต ช่วยส่งเสริมการสร้างงานในท้องถิ่น และลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมืองด้วย" นายศุภชัย กล่าว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราให้เป็นอาชีพหลัก โดยนอกจากจะได้ดำเนินการส่งเสริมตามโครงการยางพารา 1 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรได้เริ่มเปิดกรีดยางแล้ว ยังได้ดำเนินโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2554 - 2556 พื้นที่เป้าหมาย 800,000 ไร่ โดยจะดำเนินการในปี 2554 พื้นที่ 200,000 ไร่