พาณิชย์เผยยอดการค้าชายแดนช่วงม.ค.-ก.พ.54 ทะลุ 1.4 แสนลบ.โต 14.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 12, 2011 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คาดว่าแนวโน้มการค้าชายแดน จะยังดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน และได้รับผลดีจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่ทำให้การค้าขายสินค้าในอาเซียนกว่า 8,300 รายการ ภาษีลดลงเหลือ 0% ซึ่งกระตุ้นให้มีการซื้อขายมากขึ้น

สำหรับในช่วง 2 เดือนปี 54 (ม.ค.-ก.พ.) การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา มีมูลค่ารวม 140,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% เป็นการส่งออกมูลค่า 93,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% และการนำเข้ามูลค่า 47,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% โดยไทยได้ดุลการค้า 46,392 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่ากับมาเลเซียในช่วง 2 เดือน มีมูลค่าการค้ารวม 91,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เป็นการส่งออก 62,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% นำเข้า 28,814 ล้านบาท ลดลง 1.9% ไทยได้ดุลการค้า 33,448 ล้านบาท สินค้าส่งออกอันดับ 1 ได้แก่ ยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง มีสัดส่วนถึง 60% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์

พม่า มีมูลค่าการค้ารวม 22,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เป็นการส่งออก 9,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9% นำเข้า 12,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% ไทยขาดดุลการค้า 2,980 ล้านบาท สำหรับการปิดด่านเมียวดี ตรงข้ามด่านแม่สอด ตั้งแต่ 18 ก.ค.53 ไม่กระทบต่อการค้าชายแดน เพราะไทยสามารถส่งออกไปพม่าผ่านด่านในจังหวัดอื่นๆ แทนได้

สปป.ลาว มีมูลค่าการค้ารวม 16,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% เป็นการส่งออก 12,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% นำเข้า 4,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% ไทยได้ดุลการค้า 8,069 ล้านบาท โดยการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเมืองปากซัน สปป.ลาว ทำให้การค้ามีความคล่องตัวมากขึ้น

กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 10,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% เป็นการส่งออก 8,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% นำเข้า 1,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134% ไทยได้ดุลการค้า 7,853 ล้านบาท โดยการค้าที่เพิ่มขึ้น มาจากกัมพูชานิยมคุณภาพของสินค้าไทยมาก และการขยายวันและระยะเวลาการเปิด-ปิดด่านการค้าไทย-กัมพูชา 3 แห่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค.54 เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ