ญี่ปุ่นลดแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังแผ่นดินไหวฉุดการส่งออก-การผลิต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 13, 2011 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ระบุเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อการส่งออก การผลิต และการบริโภค

รายงานประจำเดือนของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า "แม้ว่าก่อนหน้านี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกระเตื้องขึ้น แต่ไม่นานมานี้เศรษฐกิจอ่อนแอลงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่"

อย่างไรก็ตาม นายคาโอรุ โยซาโน รัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการคลังกล่าวว่า ผลกระทบในแง่ลบของภัยพิบัติจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ

"นักเศรษฐศาตร์หลายคนเชื่อว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้" นายโยซาโนะบอกกับผู้สื่อข่าว "ผมหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น"

เขากล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจร้ายแรงที่สุดจนถึงขณะนี้คือภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้า พร้อมทั้งแสดงความกังวลต่อวิกฤตการณ์ที่โรงงานนิวเคลียร์ที่ฟูกุชิม่า ไดอิจิ ของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค เพาเวอร์ โค ทำให้รัฐบาลปรับลดการประมาณการยอดส่งออก การผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคภาคเอกชน แต่ยังคงตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เช่นบรรยากาศด้านการจ้างงาน และการลงทุนภาคเอกชน

ที่ผ่านมา ยอดส่งออกมีสัญญาณการขยายตัวขึ้น แต่ขณะนี้รัฐบาลวิตกกังวลว่าภัยธรรมชาติจะส่งผลให้ยอดส่งออกลดลง ขณะที่วิกฤตสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในอาหารก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออก ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่จำกัดและสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารบางรายการจากญี่ปุ่น

ในส่วนของการใช้จ่ายผู้บริโภค รายงานระบุถึงสัญญาณของความอ่อนแอด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลภาคเอกชนระบุว่า ยอดขายยานยนต์และยอดขายในห้างสรรพสินค้าร่วงลงอย่างหนักในเดือนมี.ค. เนื่องจากการผลิตที่ชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงหลังเกิดแผ่นดินไหว

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลคาดการณ์ว่า ความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโรงงานสำนักงานภาคเอกชนต่างๆในเขตโทโฮคุจะพุ่งถึง 25 ล้านล้านเยน และจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดลง 0.5% ในปีงบประมาณ 2554 แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เช่นผลกระทบจากวิกฤตนิวเคลียร์ และภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้า สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ