นายโรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวขึ้นไปแล้ว 36% จากปีที่แล้ว และราคาอาหารกำลังเคลื่อนไหวอยู่ใน "เขตอันตราย" นายเซลลิกกล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันว่า การพุ่งขึ้นของราคาอาหารนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
"ราคาอาหารที่สูงขึ้นกำลังเพิ่มเดือดร้อนให้กับคนยากจน และสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือคนยากจน" นายเซลลิกกล่าว
รายงาน Food Price Watch ของธนาคารโลกระบุว่า มีประชาชนกว่า 40 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) ซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน เนื่องจากราคาอาหารแพงขึ้น หากราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้นอีก 10% ก็อาจทำให้จำนวนประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคน
ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกควรให้ความสนใจเรื่องผลกระทบของราคาอาหารแพงที่จะมีต่อเศรษฐกิจมหภาค พร้อมกับแนะนำให้รัฐบาลผ่อนคลายกฎข้อบังคับด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะช่วยควบคุมการพุ่งขึ้นของราคาอาหารทั่วโลกได้ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน