นางพัลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) คาดว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(ค่าเอฟที) งวดใหม่ในเดือนพ.ค.-ส.ค.54 มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้าของประเทศให้เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องเงินบาทอ่อนค่า รวมทั้งปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่อาจจะน้อยลง เพราะสภาพอากาศเย็นและมีฝนตกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีผลต่อค่าเอฟทีได้ แต่จะมากน้อยเพียงใดคงจะต้องพิจารณาตัวเลขรายละเอียดอีกครั้ง
ด้านนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณจากฝ่ายการเมืองว่าต้องการให้ตรึงค่าเอฟทีงวดใหม่ แม้จะใกล้การเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งหากระดับนโยบายสั่งให้ตรึงค่าเอฟทีจริงก็คงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เข้ามารับภาระในการตรึงค่าไฟฟ้ารอบที่ผ่านมาประมาณ 20,000 ล้านบาท และได้มีการใช้หนี้ให้ กฟผ.เสร็จสิ้นในค่าเอฟทีงวดปัจจุบัน
สำหรับนโยบายใช้ไฟฟ้าฟรีถาวรสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือนนั้น กระทรวงพลังงานจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ โดยหลักการคือช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ใช้มิเตอร์ขนาด 5 แอมแปร์ จำนวน 7.9 ล้านครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือประมาณ 12,000 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ วงเงินที่นำมาช่วยเหลือนั้นผู้ใช้ไฟภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่ต้องเข้ามาร่วมรับภาระช่วยเหลือ แต่กลุ่มอื่น ได้แก่ ผู้ประกอบการขนาดกลาง, ขนาดใหญ่ ภาคราชการ รวมทั้งผู้ซื้อไฟฟ้าตรงจาก กฟผ. และภาคเอกชนจะต้องเข้ามาร่วมรับภาระซึ่งจะอยู่ในวงเงินไม่เกิน 10 สตางค์/หน่วย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสถาบันพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วยที่จะให้เอกชนเข้ามารับภาระต้นทุนสำหรับผู้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วย/เดือน ซึ่งจะทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดจะทำนโยบายประชานิยมจะจำเป็นต้องพิจารณาผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้รอบด้าน