สกพ.รับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์กำหนดค่าไฟใหม่คาดเริ่มใช้ ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2011 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย สำหรับปี 2554-2558 หลังจากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเดิมใช้มาแล้ว 6 ปี ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่จะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.ค.นี้

"โครงสร้างค่าไฟใหม่จะประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟทีเหมือนเดิม แต่จะมีการแยกแยะให้ชัดเจนว่า ต้นทุนการผลิตของแต่ละโรงไฟฟ้า ต้นทุนสายส่ง และอื่นๆ เป็นอย่างไร ขณะที่ค่าเอฟทีจะเหลือเฉพาะค่าเชื้อเพลิงเท่านั้น" นางพัลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าว

นอกจากนี้ ในการคำนวณอัตราผลตอบแทนการลงทุนของ 3 หน่วยงานด้านการไฟฟ้า หรือ ROIC จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะได้ตัวเลขลดลงจาก 8.3% เป็น 7.51% การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จะได้เพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 5.73%

และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมของผู้ใช้ไฟจะมีการติดตามการลงทุนของ 3 หน่วนด้านการไฟฟ้า เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพบริการ และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีบทปรับการลงทุนของการไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนที่เหมาะสม หรือการลงทุนในโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ(Crawl Back)

ขณะเดียวกันจะมีการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าประเภท demand response ซึ่งโครงสร้างนี้ ผู้ประกอบการจะต้องสมัครเข้าร่วมและสามารถลดการใช้ไฟตามที่ศูนย์สั่งการไฟฟ้าร้องขอ ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ช่วงหน้าร้อนของแต่ละปี โดยปริมาณไฟฟ้าในช่วงพีค และปกติ ปัจจุบันมีความแตกต่างกันถึง 40%

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 2.464 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าเอฟทีอยู่ที่ 0.8688 บาทต่อหน่วย เมื่อประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่แล้ว ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะเป็นศูนย์ แต่ในส่วนค่าไฟฟ้าฐานจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงสร้างใหม่จะประกาศใช้ 5 ปี และจะมีการปรับปรุงในช่วง 2 ปีแรก


แท็ก ค่าไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ