นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติลดการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล 40 สตางค์/ลิตร ทำให้จากปัจจุบันที่ชดเชยรวมแล้วทั้งหมด 6.40 บาท/ลิตร มาเหลือที่ 6 บาท/ลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้(20 เม.ย.) เป็นต้นไป ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกวันที่ 18 เม.ย. ปรับตัวลดลง ซึ่งล่าสุดจะทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลในประเทศ อยู่ที่ 1.538 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ การปรับลดการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลงไปช่วยชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ได้ทำให้เงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันฯ ลดลงจาก 403.58 ล้านบาท/วัน เหลือ 381.30 ล้านบาท/วัน หรือลดลงจาก 12,107 ล้านบาท/เดือน เหลือ 11,435 ล้านบาท/เดือน
ด้านนายศิวนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (องค์การมหาชน)กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการทางภาษีเข้ามาช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้วก็ตาม แต่ขณะนี้พบว่ายังมีส่วนต่างการชดเชยราคาอีก 16 สตางค์/ลิตร ที่กองทุนน้ำมันฯ ยังคงต้องรับภาระอยู่ หรือคิดเป็นเดือนละ 300 ล้านบาท ตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 50 ล้านลิตร/วัน
ขณะนี้สถานะของกองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินอยู่ราว 4,500 ล้านบาท แต่ถ้าหักลบเงินที่ไหลเข้า-ออกแล้วถือว่าติดลบ เพราะมีภาระต้องชดเชยราคาก๊าซ LPG เดือนละ 3 พันล้านบาท ชดเชยราคาก๊าซ NGV เดือนละ 300-400 ล้านบาท และชดเชยราคาน้ำมันยูโร 4 อีกเดือนละ 200-300 ล้านบาท ขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ เดือนละประมาณ 2,400 ล้านบาท
ดังนั้น รัฐบาลควรต้องพิจารณามาตรการเกี่ยวกับก๊าซ LPG ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากมีภาระการชดเชยสูงมาก แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจะลอยตัวราคาก๊าซ LPG ในภาคอุตสหากรรมตั้งแต่เดือน ก.ค.ตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยจะทยอยปรับเพื่อไม่ให้มีผลกระทบมาก
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการชดเชยส่วนต่างราคานำเข้า LPG อยู่ที่ 71.40 ล้านบาท/วัน ชดเชยราคา LPG จากโรงกลั่นน้ำมัน 33.76 ล้านบาท และ LPG ภาคขนส่ง 2.26 ล้านบาท/วัน โดยไตรมาสแรกปีนี้มีการนำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ 2.8 แสนตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.1 แสนตัน ขณะที่มีการผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศได้ 2.5 แสนตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 8 หมื่นตัน