ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดตลาดรถยนต์ในปท.โตเหลือ 4-6% หากขาดชิ้นส่วนยืดเยื้อถึง Q3

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 22, 2011 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยในระยะต่อจากนี้ไป อาจจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถผลิตและส่งมอบรถยนต์ได้ตามกำหนด ซึ่งโดยทั่วไปรถยนต์ 1 คัน จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนมากกว่า 20,000 ชิ้น หากขาดไปก็จะทำให้ไม่สามารถประกอบรถยนต์ได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่ง ซึ่งต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นถึงประมาณร้อยละ 50 หรือรถปิกอัพ ซึ่งมีการนำเข้าชิ้นส่วนประมาณร้อยละ 5 ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนครั้งนี้ และแม้ชิ้นส่วนหลายรายการจะมีการผลิตในประเทศ แต่วัตถุดิบบางส่วนก็จำเป็นจะต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ในระยะข้างหน้านี้อาจเกิดการชะลอหรือหยุดชะงักของสายการผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยที่ปัจจุบันผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนนี้ได้ส่งผลไปยังสายการผลิตรถยนต์ในประเทศอื่นๆนอกประเทศญี่ปุ่นแล้ว ทำให้จำเป็นต้องมีการหยุดดำเนินการผลิตเป็นการชั่วคราวในหลายๆโรงงาน รวมถึงการลดเวลาการทำงานลงจากที่เคยทำตามปกติ เพื่อให้การผลิตรถยนต์สอดคล้องกับปริมาณชิ้นส่วนที่มีอยู่

ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่กระจายไปยังแต่ละภูมิภาค ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์หลายค่ายในทวีปยุโรปที่ขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ ชิปและหน้าจอ LCD สำหรับเครื่องนำทาง Navigator เป็นต้น ขณะที่การผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ก็เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างชิป IC เป็นต้น

และสำหรับในไทยเอง ชิ้นส่วนที่ประสบปัญหาการขาดแคลนมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนประกอบเครื่องยนต์บางอย่าง ECU (Engine Control Unit) หรือ อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของระบบเครื่องยนต์ และแบตเตอรี่ไฮบริด เป็นต้น ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆเหล่านี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์และต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง รวมถึงหาจากแหล่งผลิตอื่นมาทดแทนได้ยาก ทำให้ผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ระยะเวลาของผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนนั้น แม้จะยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัดในปัจจุบัน แต่ในเบื้องต้นก็มีการคาดการณ์ว่าอาจจะดำเนินไปจนถึงสิ้นไตรมาส 2/54 ซึ่งการผลิตรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามปกติในช่วงเวลาดังกล่าว อาจทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งมอบรถยนต์ตามมา ซึ่งก็มีโอกาสจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ขยายตัวลดลงหรือถึงขั้นหดตัวอย่างไม่อาจเลี่ยง

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสามารถคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ผู้ผลิตรถยนต์น่าจะสามารถเร่งกำลังการผลิตขึ้นมา เพื่อเร่งการส่งมอบรถยนต์ ทำให้ผลกระทบต่อยอดขายทั้งปีอยู่ในขอบเขตจำกัด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 54 น่าจะยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6 ถึง 12 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 45.8 ในปี 53 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ประมาณ 850,000 ถึง 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากยอดขายรถยนต์รวม 800,357 คัน ในปี 2553

ในกรณีเลวร้าย ที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนดำเนินยืดเยื้อไปถึงช่วงไตรมาส 3/54 ตามสภาวะการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ปัญหาเรื่องการผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบให้ผู้ซื้อรุนแรงกว่าที่คาดไว้ในกรณีแรก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีเลวร้ายนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2554 อาจจะเหลือขยายตัวเพียงร้อยละ 4-6 หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์เพียงประมาณ 830,000 ถึง 850,000 คัน

และจากปริมาณคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศดังกล่าว ถ้าเป็นในกรณีแรกที่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับประกอบรถยนต์ไม่ยืดเยื้อมาก และสามารถกลับมาเร่งผลิตชดเชยกำลังการผลิตที่อาจจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 2 อันเนื่องมาจากการปรับแผนของโรงงานให้สอดคล้องกับปริมาณชิ้นส่วนที่มีอยู่ ก็คาดว่าน่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการผลิตเดิมของรถยนต์ในปีนี้ที่จำนวน 1.8 ล้านคัน

แต่ถ้าหากเป็นไปตามกรณีเลวร้าย ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง และทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ปี 2554 ทั้งปี ลดต่ำลงกว่าจำนวน 1.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ แต่จะลดต่ำลงไปแค่ไหนนั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนนั้นยังไม่ชัดเจน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันก็ยังเกิดปัญหาแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมากในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะเข้ามา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ