Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญชี้วิกฤหนี้เป็นอุปสรรคเรื้อรังของปท.พัฒนาแล้ว

ข่าวต่างประเทศ Monday April 25, 2011 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คาร์เมน เอ็ม ไรน์ฮาร์ท นักวิเคราะห์จากสถาบัน Peterson Institute for International Economics ในกรุงวอชิงตัน กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ปัญหาด้านการคลังและหนี้สาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น จะเป็นอุปสรรคเรื้อรังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

"ความน่าเชื่อถือไม่อาจสร้างขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน เราจำเป็นต้องจริงจังในเรื่องการลดหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณ" ไรน์ฮาร์ทกล่าวกับซินหัว

ทั้งนี้ ไรน์ฮาร์ทได้แบ่งประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบปัญหาหนี้สินออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านการคลัง ซึ่งประเทศกลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยการมีหนี้สาธารณะจำนวนมากและเศรษฐกิจชะลอตัวลงหลังจากถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลก ยกตัวอย่างเช่น กรีซ ซึ่งมีปัญหาการคลังและมีหนี้สาธารณะที่สูงมาก จึงทำให้กรีซกลายเป็นประเทศที่เปราะบางต่อวิกฤตการเงินมากที่สุด

กลุ่มที่สองคือประเทศที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยปัญหาการคลัง แต่มีหนี้ในภาคเอกชนจำนวนมาก ซึ่งไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และสเปน อยู่ในประเทศกลุ่มนี้ ประเทศกลุ่มที่สองนี้มีสถานะการคลังที่สมดุลในช่วงก่อนเกิดวิกฤต แต่หนี้ภาคเอกชนของประเทศกลุ่มนี้เริ่มกลายเป็นหนี้สาธารณะ หลังจากรัฐบาลได้ใช้งบประมาณเข้ามาอุ้มธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาด้านการเงินในช่วงเกิดวิกฤตการเงิน

ส่วนประเทศกลุ่มที่สามคือประเทศที่มีปัญหาแบบเดียวกับโปรตุเกส ซึ่งมีทั้งปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณ ประเทศกลุ่มนี้มีดุลบัญชีสาธารณะที่อ่อนแอและมีหนี้พอกพูนจำนวนมากก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงิน

"เมื่อดูจากการแบ่งกลุ่ม จะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีระดับหนี้สินที่สูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง" ไรน์ฮาร์ทซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีที่ขายดีที่สุดเรื่อง "This Time is Different: Eight Centuries of Financial Folly" กล่าว

ไรน์ฮาร์ทกล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐมีหนี้สูงสุดในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD)

ทั้งนี้ ไรน์ฮาร์ทได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวที่ว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐว่า เธอไม่แปลกใจที่ S&P ลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐ เพราะสหรัฐกำลังประสบกับความยุ่งยากทางการเมือง จึงทำให้การลดตัวเลขหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณมีความซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะนั้น ไรน์ฮาร์ทกล่าวว่าในกรณีประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูง รวมถึงกรีซ ไอร์แลนด์และโปรตุเกสนั้น ควรจะต้องมีการปรับโครงสร้างควบคู่ไปกับการปรับนโยบายการคลัง แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน

บทสัมภาษณ์โดย หลิว ลีนา จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ