นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้เปิดท่าเทียบเรือและคลังจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สามารถรองรับปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกได้กว่า 2 ล้านตันต่อปี ณ บริเวณสำนักงานท่าเทียบเรือนิคมอุตสากรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยใช้เงินลงทุนเฟสแรกจำนวน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ถังเก็บปิโตรเคมี 6 ถัง ความจุรวม 70,000 ตัน เพื่อรองรับการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ กรดซัลฟูริก(กำมะถัน), โพรพีลีน, เมทิลเมทา, คริเลท, อะคริโลไนไตรล์ และแอมโมเนีย ซึ่งในเดือน พ.ค.นี้จะเริ่มส่งวัตถุดิบให้กับบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล และในเดือน ก.ย.นี้จะส่งให้บริษัท เอชเอ็มซี โพลิเมอร์ เป็นสัญญาระยะยาว ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ท่าเทียบเรือแห่งนี้เปิดรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเที่ยวแรกจำนวน 4,000 ตัน
โดยคลังแห่งนี้มีถังเก็บแอมโมเนียขนาด 34,000 ตัน เป็นถังขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถขนส่งแอมโมเนียด้วยการใช้เรือบรรทุกขนาดใหญ่ 60,000 ตัน ซึ่งใช้เรือร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่อตันลง ที่สำคัญช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมเคมีของไทย และกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ด้านนายวิชา จุ้ยชุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนรับก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1-6 มาไว้ในคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริเวณสำนักงานท่าเทียบเรือนิคมอุตสากรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จำนวน 300,000 ตันต่อปี โดยมีท่อก๊าซยาว 7 กิโลเมตรจากโรงแยกก๊าซฯไปยังท่าเทียบเรือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางท่อก๊าซฯ คาดจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.นี้
และวันที่ 1 ต.ค.นี้จะสามารถจ่ายก๊าซแอลพีจีไปยัง ปตท.ได้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตคลังแห่งนี้จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 3 ปี เน้นส่งก๊าซแอลพีจีไปจำหน่ายยังโรงไฟฟ้าขนอม กำลังการผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ จ.สงขลา ของเอ็กโก้ และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตประมาณ 200 เมกะวัตต์ จ.สุราษฎร์ธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงถึง 420,000 ตันต่อปี ถือว่าเติบโตขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี หรือ 40,000 ตันต่อปี เทียบได้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 1 โรง โดยโรงไฟฟ้าขนอมรองรับแอลพีจีได้ 240,000 ตัน ส่วนอีก 180,000 ตันต้องนำเข้าจากคลังก๊าซเขาบ่อยา จ.ชลบุรี เมื่อเทียบกับคลังก๊าซแห่งนี้กับเขาบ่อยาช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 200 บาทต่อตัน เพราะขณะนี้คลังก๊าซแอลพีจีที่เขาบ่อยารองรับเต็มความจุแล้ว ขณะที่คลังก๊าซฯ พีทีทีแทงค์สามารถรองรับปิโตรเคมีได้ 400,000 ตัน และรองรับก๊าซแอลพีจีได้ 1.6 ล้านตัน
อย่างไรก็ตามในอนาคตภายในเวลา 10 ปี พีทีทีแทงค์มีแผนขยายการจัดเก็บผลิตภัณฑ์สินค้าเหลวให้เต็มความจุรองรับความต้องการใช้ในภาคต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ด้วยการเพิ่มถังความจุอีก 6 ถัง ความจุรวม 70,000 ตัน ในพื้นที่ท่าเทียบเรืออีก 1 ท่าซึ่งยังว่างอยู่ แบ่งเป็น ใช้บรรจุก๊าซแอลพีจี 3 ถัง และ อีก 3 ถังบรรจุปิโตรเคมี คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมมองว่า ในอนาคตตลาดธุรกิจปิโตรเคมีของไทยมีโอกาสเติบได้มากกว่านี้ เพราะความต้องการในตลาดโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่องจะช่วยให้รายได้จากปัจจุบัน 600 ล้านบาทต่อปี เติบโตขึ้นอีกร้อยละ 10 ต่อปี ตามตลาดธุรกิจปิโตรเคมีที่ขยายตัวขึ้น