นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมว่าจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(ไอพีพี) หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการลงทุน ซึ่ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)จะเป็นผู้พิจารณา โดยในส่วนของ ปตท.จะสามารถจัดหาก๊าซเพิ่มเติมรองรับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลื่อนการก่อสร้างออกไป 3 ปีได้ เพราะเป็นแผนระยะยาวกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้ใช้เวลากว่า 10 ปี และเป็นการทยอยเลื่อน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอที่ประชุม กพช.ให้พิจารณาเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ ออกไป 3 ปี จากแผนเดิมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกจะเข้าระบบในปี 2563 และโรงที่ 2 จะเข้าระบบในปี 2564 พร้อม ให้ ปตท.จัดหาก๊าซธรรมชาติเข้ามาทดแทนและให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอีก 3 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์
โดยระหว่างนี้ ปตท.มีแผนขยายกำลังการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เพิ่มเติมจาก 5 ล้านตันต่อปี เป็น 10 ล้านตันต่อปีในอนาคต คาดจะได้ก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มอีกประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าจะรองรับได้ถึง 5 โรงไฟฟ้า โดยจะมีการนำเข้าจากประเทศตะวันออกกลางและออสเตรเลีย พร้อมเตรียมแผนขยายคลังจัดเก็บก๊าซแอลเอ็นจีและแอลพีจีด้วย ขณะนี้รอความชัดเจนจากรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายว่าจะให้เวลาดำเนินการลงทุนอย่างไร เพราะการขยายคลังจัดเก็บก๊าซฯต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ทั้งการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และการทำรายงานด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) ซึ่ง ปตท.มีแผนขยายคลังจัดเก็บแอลพีจีที่คลังก๊าซเขาบ่อยา จ.ชลบุรี ส่วนคลังก๊าซแอลเอ็นจีจะก่อสร้างในพื้นที่ จ.ระยอง
นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนขยายคลังจัดเก็บก๊าซแอลพีจีและเพิ่มการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศเพิ่มเติมอีก หลังความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมระหว่างปริมาณการใช้และการนำเข้าให้สมดุลกัน เนื่องจากปัจจุบันการคำนวณความต้องการใช้ทำได้ยาก เพราะต้องมีการพิจารณาประกอบกับราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกในการคำนวณอัตราการใช้ของประเทศต่อไป คาดว่า จะแล้วเสร็จในปีนี้ และจะเสนอ กพช.พิจารณาอนุมัติ
นายประเสริฐ กล่าวว่า ปตท.ยังไม่มีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันในสัปดาห์นี้ โดยค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกชนิดอยู่ที่ประมาณ 1.10 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ประมาณ 1.40-1.50 บาทต่อลิตร แต่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปัจจัยภายนอกหนึ่งที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกและราคาขายปลีกในประเทศไทย โดยขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่อง จากความกังวลความรุนแรงทางการเมืองในตะวันออกกลางที่มีโอกาสยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้างในหลายประเทศ