เจอราลด์ ลียงส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อเอเชียในแง่การค้าระหว่างประเทศ, การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) และระบบซัพพลายเชน
"ประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีเศรษฐกิจแบบเปิดในเอเชียจะอ่อนไหวง่ายและมักตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่าประเทศอื่นเสมอ" ลียงส์กล่าว พร้อมเสริมว่า สิงคโปร์ ไทย รวมถึงฮ่องกง และไต้หวัน จะมีซื้อขายที่ผันผวนอันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ส่วนประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างเช่นอินเดีย อินโดนีเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่จะสามารถรับมือกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า
สำนักข่าวซินหัวรายงานสถิติจากฝ่ายวิจัยของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดซึ่งเผยให้เห็นว่า ในบรรดากลุ่มประเทศเอเชียทั้งหมดนั้น สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างการขยายตัวรายไตรมาสต่อปีที่ระดับสูงสุดกับระดับต่ำสุดมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อ FDI ของหลายประเทศในเอเชีย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นแหล่งเงินทุน FDI ในเอเชีย
"สองประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ประเทศไทย ซึ่งมี FDI จากญี่ปุ่นในสัดส่วน 23.3% และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วน FDI ที่ 16.8%" ลียงส์เสริม
ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนไอทีและชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของโลก ดังนั้น เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงนี้จึงส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนทั่วโลก
โดยในแง่ของชิ้นส่วนไอทีนั้น ญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดโลกกว่า 50% ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ anisotropic conductive film แผ่นชิพเชิงพาณิชย์ แผ่นฟอยล์ทองแดงขึ้นรูปและ LCD นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จำนวนมากไม่เพียงแต่เฉพาะแบรนด์รถของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังป้อนให้กับแบรนด์รถต่างประเทศอื่นๆ เช่น ฟอร์ด เจเนอรัล มอเตอร์ส และเปอโยต์
ลียงส์กล่าวว่า ในเอเชียนั้น ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากแผ่นดินไหว ได้แก่ ผู้ผลิตชิพ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไอทีในเกาหลีใต้และไต้หวัน ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไอที รวมถึงโรงงานประกอบรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ Greater China (จีน ฮ่องกง และไต้หวัน) และกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารในฮ่องกง และสิงคโปร์ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากแผ่นดินไหว ได้แก่ ผู้ผลิตแผ่นชิพในเกาหลีใต้และไต้หวัน กลุ่มธุรกิจอาหาร น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ Greater China กลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งจะได้อานิสงส์จากการไหลทะลักของกลุ่มคนทำงานในต่างประเทศที่ย้ายออกจากญี่ปุ่น