(เพิ่มเติม) สภาหอฯ คาดส่งออกอาหารปีนี้โต 6.5% หลายปัจจัยหนุนให้ความต้องการยังสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2011 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 855,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ประกอบกับภาวะภัยพิบัติในญี่ปุ่น ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศผู้ผลิตและนำเข้ารายสำคัญได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จนส่งผลให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น แม้ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านวัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพงทั้งจากราคาพลังงาน, ภาวะเงินเฟ้อ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

นายพรศิลป์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังและน้ำมันปาล์ม ดังนั้นจึงขอเตือนผู้ประกอบการไทยให้เร่งทำแผนบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งจับตาสถานการณ์ประเทศญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงด้านอาหารในเชิงรุกและหวังผลในระยะยาวมากขึ้น โดยขยายฐานการลงทุนภาคเกษตร เช่น ข้าว สินค้าประมง น้ำมันปาล์ม น้ำตาล และปศุสัตว์ ไปยังภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

ส่วนแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในไตรมาส 2 ปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 211,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดี ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิตยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการเพิ่มกำลังการผลิต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยก็มีเข้ามาต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคใต้จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะกุ้งมีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่เป็นตลาดใหม่ นอกจากนี้ ความไม่สงบในประเทศแอฟริกาตอนเหนือ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโตน้อยลงได้

สำหรับแนวนโยบายที่น่าจะดำเนินการได้ภายใต้ภาวะที่โลกมีความไม่แน่นอนสูงนั้น ในระยะสั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบริหารจัดการวัตถุดิบที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนในระยะยาวต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหาร เพิ่มความหลากหลายให้ตัวผลิตภัณฑ์ และลดปริมาณการใช้วัตถุดิบที่อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนและราคาสูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันควรแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียนที่ก้าวเข้าสู่ AEC พร้อมๆ กับการหาโอกาสขยายการลงทุนในสู่ประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาภายในประเทศและสร้างโอกาสในการขยายตลาดในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ