เรกูเลเตอร์ เผยแนวโน้มค่า Ft งวดพ.ค.-ส.ค.พุ่งตามต้นทุน, อาจให้กฟผ.ร่วมรับภาระ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2011 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ พ.ค. — ส.ค. มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย มีสัดส่วนถึง 70% โดยในวันที่ 29 เม.ย.นี้จะมีการพิจารณาเบื้องต้น โดยพิจารณาถึงผลกระทบรอบด้านทั้งภาคประชาชนและผู้ผลิต

"มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะให้ทางผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมรับภาระต้นทุนด้วย เพื่อไม่ให้เป็นผลักภาระในภาคประชาชนทั้งหมด เพราะอาจจะซ้ำเติมค่าครองชีพที่ในขณะนี้ปรับสูงขึ้น" นายนภดล กล่าว

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ที่ กกพ. กำลังพิจารณาและจะปรับผลตอบแทนการลงทุน ของ กฟผ. ให้ลดลงจาก 8% ลดลงเหลือ 6% นั้น กฟผ. ยอมรับได้หากมีการเกลี่ยในอัตราที่เหมาะสมแต่ไม่ควรที่จะต่ำมากเกินไปเพราะ กฟผ. มีภาระ เรื่องการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่รองรับการใช้ที่สูงขึ้น ซึ่ง หากต่ำมากจะกระทบต่อฐานะการเงินมีผลต่อเรื่องการกู้ยืมเงินซึ่งอาจทำให้ต้นทุนสูงและกระทบต่อค่าไฟฟ้าในที่สุด

"ค่าเอฟทีงวดใหม่จะขึ้นมากน้อยขนาดไหน จากที่งวดเดือน มกราคม — เมษายน อยู่ที่หน่วยละ 86.58 สตางค์ คงจะขึ้นอยู่กับ กกพ. ซึ่งดูแนวโน้มราคาก๊าซที่อิงราคาน้ำมันแล้วคงจะไม่มีโอกาสลงมาอยู่ในระดับต่ำได้อีก ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยถ้าหากจะมีการแทรกแซงราคาโดยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น กฟผ. เข้ามาร่วมรับภาระ โดยควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและร่วมกันประหยัด" นายสุทัศน์ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้นทุนค่า เอฟที อาจจะมีการปรับขึ้นประมาณ 14 สตางค์/หน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอ่อนค่าลง รวมถึง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมลดลงจากคาดการณ์เนื่องจากอากาศหนาวเย็นและมีฝนตก

ส่วนเรื่องค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ อยู่ในระหว่างการพิจารณาโครงสร้างการใช้คลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยบมจ. ปตท. (PTT) ได้มีการดำเนินการก่อสร้างแล้ว และจะสามารถเริ่มนำเข้าในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ โดย กกพ. เสนอให้ ปตท. ลงทุนในโครงการ แอลเอ็นจีครบวงจร เพื่อความมั่นคงทางด้านการนำเข้าก๊าซฯในอนาคต โดยควรลงทุนแบบครบวงจร อาทิ ลงทุนในแหล่งผลิต เรือขนส่ง ระบบคลัง ซึ่ง กกพ.มีความเห็นว่า การลงทุนในการสร้างคลังเก็บก๊าซธรรมชาติของ ปตท. นั้นน่าจะเปิดโอกาสให้กับเอกชนรายอื่นๆในการใช้คลังดังกล่าว โดยคิดค่าบริการในการใช้คลัง เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการนำเข้า ก๊าซแอลเอ็นจี เนื่องจากในอนาคตก๊าซดังกล่าวคาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้น จากการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ