นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ในฐานะประธานที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาทว่า เป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะหน้า และเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง เพราะรัฐจะต้องทุ่มเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น สร้างระบบรถไฟความเร็วสูง เหนือ-ใต้-อีสาน ได้ถึง 1 เส้นทาง
นอกจากรัฐจะใช้เงินกองทุนน้ำมันติดลบแล้ว ยังทิ้งภาระหนี้ในการจ่ายชดเชยการตรึงราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี กว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐมีเงินไม่เพียงพออาจจำเป็นต้องกู้หรือขายรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ในที่สุด นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันยังคงทรงตัวสูงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงควรใช้วิธีการปรับขึ้นลิตรละ 0.50-1.00 บาท/เดือน เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัวตาม ควบคู่กับการรณรงค์และเป็นตัวอย่างให้เอกชน ใช้ไฟฟ้า-แสงสว่าง-แอร์-รถยนต์ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการควบคุมราคาน้ำมันของรัฐบาลว่า อยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลือกแทรกแซงราคาน้ำมันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เดือดร้อนเป็นราย ๆ ไป และทยอยปรับราคาขายปลีกน้ำมันขึ้นจนกว่าราคาจะสะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากการใช้มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้กว่า 4.4 หมื่นล้านบาท และหากยังคงมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อไป รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะเกิดความลำบาก และสิ่งที่จะตามมาอย่างชัดเจน คือ ระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
"รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรปล่อยราคาน้ำมันให้ลอยตัวหรือควรเข้าไปแทรกแซงราคาให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป็นราย ๆ ไป หรือทยอยปรับราคาน้ำมันขึ้นจนกว่าราคาจะสะท้อนความเป็นจริง" นพ.เจตน์ กล่าว