สศค.เดินหน้าพัฒนาระบบการเงินภาคปชช. หวังลดความเหลื่อมล้ำ-วางรากฐานศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2011 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการสัมมนาข้อ “การพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ยั่งยืน” และ “ความท้าทายของการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน : จากสากลสู่ฐานราก” ว่า ทิศทางการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนจะเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชน เพื่อเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง

ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน (สพช.) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการ ซึ่ง สพช. ได้ดำเนินการศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบระยะที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมการขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบระยะที่ 2 ดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตรกรภายใต้การทำงานของคณะทำงานพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของข้อเสนอของแนวร่วมเกษตรกร

สำหรับในระยะต่อไป สศค. จะมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนฐานรากเกิดวัฒนธรรมการออม การมีระบบสวัสดิการ และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองมากขึ้น พัฒนาความตระหนักรู้ทางการเงิน (Financial literacy) และพัฒนากระบวนการทำงานที่จะส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนและระบบการเงินภาคประชาชน โดยต้องเกิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนาด้านเครือข่าย และการพัฒนาบนหลักการเชิงพื้นที่ (Area based development) โดยตระหนักว่าในแต่ละพื้นที่มีลักษณะที่ต้องการการพัฒนาเฉพาะตัว

ทั้งนี้ มีแผนงานโครงการสำคัญที่จะดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ได้แก่ 1) การดำเนินการตามแผนแม่บทการเงินฐานรากให้มีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรการเงินฐานราก การสร้างเครือข่ายขององค์กรการเงินฐานราก การพัฒนากรอบการกำกับดูแลระบบการเงินฐานรากที่เหมาะสม และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินพื้นฐาน โดยเฉพาะกับประชาชนในชุมชนฐานรากและที่เป็นแรงงานนอกระบบ 3) การศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินที่ทั่วถึงขึ้น และการประกันรายย่อย (Micro insurance) 4) การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลองค์กรการเงินฐานรากในพื้นที่นำร่อง และ 5) ดำเนินการกำกับดูแลและสร้างบรรทัดฐานการดำเนินงานของผู้ประกอบการสินเชื่อ ส่วนบุคคลที่เป็นบุคคลธรรมดา และการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว

จากการดำเนินการข้างต้น ในระยะยาว สศค. มุ่งหวังว่าประเทศไทยจะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการเงินระดับฐานรากที่ดีขึ้น (จากการสำรวจของ Economist Intelligence Unit พบว่าระดับความพร้อมด้านการเงินระดับฐานรากของไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 54 ประเทศ) และท้ายที่สุดประชากรระดับ ฐานรากทั้งหมดจะได้มีโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อการดำรงชีพ ระบบสวัสดิการสังคม ระบบการจัดหารายได้เสริมหรืออาชีพชดเชย และระบบการออม และมีภูมิคุ้มกันจากหนี้สินภาคประชาชนและหนี้นอกระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ