นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) ในช่วงไตรมาส 1/2554 ขยายตัวลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นไตรมาสแรกที่ MPI กลับมาติดลบหลังจากฟื้นตัวเป็นบวกจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมมีการชะลอการผลิตลงเนื่องจากระดับสินค้าคงคลังที่มีสูงมาก ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 62.6%
ส่วน MPI ของเดือน มี.ค.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิต(มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 198.28 ลดลง 6.67%, ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 208.06 ลดลง 2.71%, ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 181.77 ลดลง 0.94%, ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 122.98 ลดลง 0.30%, ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 160.06 เพิ่มขึ้น 4.14% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 66.0%
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 1/ 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอตัวเล็กน้อย แต่คาดว่าภาพรวมทั้งปีจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ขยายตัวออกสู่ชานเมือง และส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศของปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวได้ดี จากโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้านอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 1/2554 ปรับตัวลดลง -6.94% จากการผลิตที่ปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมากยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนหนึ่งประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกไม่ใช่เป็นช่วง High season และฐานตัวเลขที่สูงในปีก่อน แต่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ สายไฟฟ้า มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ประมาณการการผลิตโดยรวมทั้งปี 2554 คาดว่าการผลิตจะขยายตัว10.78%
ขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1/2554 การผลิตและการส่งออกในภาพรวม เพิ่มขึ้นประมาณ 5.2%และ 16.8% ตามลำดับ เนื่องจาก การผลิตในสินค้าสำคัญ ได้รับผลดีจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มการผลิตและการส่งออกปี 2554 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2553 ประมาณ 5.7% และ 10.5% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรสำคัญๆ หลายประเภทของโลกมีปริมาณลดลงจากภาวะภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1/2554 การผลิต การจำหน่ายในประเทศ การส่งออกมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี เนื่องจากสิ่งทอต้นน้ำยังมีการส่งออกได้ดี จากความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีอุตสาหกรรมประเภทต้นน้ำในหลายประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ในส่วนของเสื้อผ้าสำเร็จรูปความต้องการในตลาดโลกเริ่มกลับมาขยายตัว ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก เช่น ตลาดสหรัฐอเมริกา ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น และมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาส 1/2554 สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย และต่างประเทศ ยังสามารถขยายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 468,981 คัน เพิ่มขึ้น 22.50% แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 177,259 คัน รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ 284,991 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 6,731 คัน โดยจำหน่ายในประเทศ 238,619 คัน เพิ่มขึ้น 43.06% รถยนต์นั่ง 106,206 คัน รถกระบะ 1 ตัน 102,796 คัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 14,874 คัน และ รถยนต์ PPV รวม SUV 14,743 คัน ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า การจำหน่ายรถยนต์นั่งมีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเล็ก การส่งออก 234,407 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.18% คิดเป็นมูลค่า 102,215.48 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 2/2554 คาดว่า ในภาพรวมจะมีการปรับลดการผลิตรถยนต์โดยรวมเหลือเพียง 50% เนื่องจากโดยปกติในเดือนเมษายน 2554 จะมีการลดการผลิตรถยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน อีกทั้งในปีนี้ได้เกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยการผลิตรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 จนถึงเดือนมิถุนายน 2554 จะปรับลดเหลือ 50% โดยคาดว่า การผลิตรถยนต์ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2554 จะหายไปประมาณ 150,000 คัน สาเหตุหลักเนื่องจาก ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนสมองกล (Micro Computer Chip) ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่บริเวณแถบที่ประสบภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการรถยนต์ยังคงแผนการผลิตไว้เท่าเดิม โดยคาดว่าปี 2554 จะมีการผลิตรถยนต์ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้น 9.40% แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 44% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และการส่งออก 1,000,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 56% ของการผลิตรถยนต์ ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง
สำหรับในปี 2554 สศอ.คาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในกรอบการประมาณการเท่าเดิม ทั้งนี้แม้ว่าจะเกิดปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น ปัญหาอุทกภัย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณารวมถึงเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจน การขยายการลงทุนทั้งจากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและการย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาไทย รวมถึงตลาดเกิดใหม่และอาเซียนที่ยังมีทิศทางการขยายตัวดี ด้วยเหตุนี้ จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2554 ทั้งปีโดย MPI อยู่ในระดับ 6.0-8.0% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ 5.5-6.5%