ธปท.ปรับคาดการณ์ห่วงราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่งเกินเป้า Q4/54

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2011 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เผยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ กังวลการเร่งตัวจากปัจจัยสำคัญราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูง แม้ขณะนี้รัฐบาลจะตรึงราคาไว้ แต่หากสิ้นสุดมาตรการอาจส่งผลเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่งทะลุกรอบบน 0.5-3.0%ในช่วงไตรมาส 4/54 แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ดีตามที่เคยคาดไว้ แม้ว่าจะเกิดเหตุภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นและสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

"ความเสี่ยงของเศรษฐกิจพอๆกับการประมาณการครั้งก่อน แต่โอกาส down side มากกว่าการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชัดเจนกว่าครั้งก่อน และเบอร์นันเก้ออกมาพูดเรื่องดอกเบี้ย มองว่าการส่งแมสเสจยังไม่ต่างจากครั้งก่อน คือการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย แม้ว่าตัวลขแศรษฐกิจของเขาปรับตัวต่ำลงเล็กน้อย เพราะไตรมาสแรกไม่ดี แต่เมื่อมองแรงส่งเศรษฐกิจทั้งปีก็ยังดีอยู่ เขาก็มีความกัวงวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ"นายไพบูลย์ กล่าว

เหตุผลที่มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 3.9% จาก 3.4% และในปี 55 แรงกดดันเงินเฟ้อจะเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ ทำให้ลดลงเหลือ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับลดลงเป็น 2.3% จาก 2.5% เป็นผลจากการต่ออายุมาตรการช่วยลดค่าครองชีพรวมถึงการตรึงราคาค่าพลังงาน แต่มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่าขอบบนของเป้าหมายปีนี้ที่ 0.5-3.0% ในช่วงไตรมาส 4/54 โดยเฉพาะเมื่อมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG จะสิ้นสุดเดือน ก.ย.นี้

การตรึงราคาดีเซลและ LPG จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่การส่งผ่านราคาสินค้าในระยะข้างหน้า ประกอบกับผู้ประกอบการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้าก็จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

"กนง.จะใช้ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน พิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจ เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นธรรมชาติ และเชื่อว่าหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาของภาครัฐจะทำให้ตัวเลขปรับตัวขึ้นอย่างแรง และจะส่งผลต่อเงินเฟ้อย่างมาก และทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นด้วย"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทำให้มีการปรับประมาณการจากสมมติฐานเดิม น่ำมันดิบดูไบจาก 91.3 เหรียญ/บาร์เรล ปรับเป็น 107.7 เหรียญ/บาเรล และปรับเพิ่มปี 55 ทรงตัวสูงที่ 110 เหรียญ/บาร์เรล โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นด้วย ประกอบกับผลกระทบจากความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเพื่อชดเชยมากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสูงขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด ให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องผลกระทบภัยพิบัติที่เกิดกับญี่ปนและทิศทางเศรษฐกิจโลก สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ และผลต่อเศรษฐกิจจากการเลือกตั้ง ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูขึ้น โดยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดไตรมสแรกโดยรวมขยายตัวได้ดี ทั้งอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกสินค้า มองว่ามีความเข้มแข็งมาก ซึ่งทั้งการลงทุนและการบริโภคกลับเข้ามาขยายตัวเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดวิกฤติแล้ว แต่ยังกังวลต้นทุนสินค้าที่เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน

ขณะที่ผลกระทบภัยพิบัติญี่ปุ่น มองว่าญี่ปุ่นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างนาน และยังคาดการณ์ยากว่าจะใช้เวลาเท่าใด แต่ผลต่อเศรษฐกิจโลกมีน้อย กนง.จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานเศรษฐกิจโลกครั้งที่ทำไว้เมื่อ ม.ค.54 แต่ปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีกว่าปีนี้ เพราะจะมีการเร่งฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนั้น สถานการณ์ในญี่ปุ่นยังไม่มีต่อการส่งออกของไทย โดยแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกของไตรมาสแรกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คำสั่งซื้อสินค้า 3 เดือนข้างหน้ายังขยายตัวได้ดีมาก แต่อาจจะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมบางภาคของไทยเท่านั้น เช่น ยานยนต์ ที่เห็นการชะลอตัวตั้งแต่เดือนมี.ค.แล้ว แต่เชื่อว่าโดยรวมแล้วภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวดีในข่วงครึ่งปีหลัง

ด้านปัจจัยน้ำท่วมภาคใต้มีผลกระทบในวงจำกัด แค่สินค้าเกษตรบางประเภท และเป็นผลกระทบชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อความสามารถด้านการผลิต โดยรวมประเมินผลกระทบของน้ำท่วมต่อที่ 0.1% ของ GDP เท่านั้น และเชื่อว่ายังจะมีผลประโยชน์จากเม็ดเงินที่รัฐเข้าไปชดเชยด้วย ส่วนการเลือกตั้งมองผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณล่าช้าไป 3-4 เดือน แต่ไม่มีผลต่องบประจำ จึงมองว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก

ทั้งนี้ กนง.ยังเห็นว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น โดยจะมีการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการผ่อนคลายดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนาน ๆ และดูแลเงินเฟ้อไม่ให้เร่งตัวสูงขึ้นมาก ส่วนความเสียงเศรษฐกิจไทยต่อไปคือ เศราฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง ราคาน้ำมันสูง และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่จะทำให้เงินบาทผันผวน ซึ่ง ธปท.ต้องติดตามใกล้ชิด ผลจากการเลือกตั้งว่าจะเอื้อต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทนอย่างไรบ้าง

ส่วนสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา มีผลโดยตรงต่อการส่งออกและการนำเข้าน้อยมาก แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทน และการท่องเที่ยวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ