ส.อ.ท.คาด GDP Q1/54 โต 3.8%, ทั้งปีโต 4-4.5% สอดคล้องหน่วยงานภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2011 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ฝ่ายเศรษฐกิจ ส.อ.ท ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัว 4-4.5% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะการส่งออกของไทยทั้งปีนี้ยังคงขยายตัวในสัดส่วนสูงถึง 12.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.19 แสนเหรียญสหรัฐ และคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 1.21 หมื่นเหรียญสหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก 3.5% ต่อจีดีพี

โดยในไตรมาสที่ 2 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.1-3.2% แต่ก็สอดคล้องกับเงินเฟ้อของภูมิภาค โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.8-4% แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายในการดูแลอัตราเงินเฟ้อของภาครัฐ รวมถึงความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้งว่าจะสามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อสูงที่เป็นแรงกดดันราคาสินค้าได้หรือไม่

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก คาดว่า จะขยายตัว 3.8% แม้จะเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 32.42% สูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง จากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และการเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน รวมถึงปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ ทำให้ผลผลิตลดลง ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น คิดเป็นความเสียหายประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของจีดีพี แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังขับเคลื่อนไปได้จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวถึง 21% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.1% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 9-9.5%

รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) อนุมัติให้ทยอยปรับเพิ่มราคาขายก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือน ก.ค.54 ส่วนตัวเห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีไตรมาสละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้งๆ ละ 3 บาทต่อกิโลกรัม หรือรวม 12 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันตรึงราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ควรจะมีการแบ่งภาคอุตสาหกรรมเป็น 2 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมแก้ว เซรามิก และกระจก ที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงหลัก รัฐบาลควรเข้ามาดูแลด้วยการชดเชยราคาเพื่อให้แข่งขันได้ เพราะหากมีการปรับราคาขึ้นโดยไม่ชดเชยจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก ส่วนอุตสาหกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาได้ก็อาจจะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อาจจะมีการผลักภาระลงไปในราคาสินค้าประมาณ 5-6%

โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการใช้แอลพีจีประมาณ 7 หมื่นตันต่อเดือน ภาคขนส่ง 6.9 หมื่นตันต่อเดือน และภาคครัวเรือน 2 แสนตันต่อเดือน

ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ได้เรียกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเข้าประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่า จะนำข้อสรุปจากการหารือเสนอให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต่อไป

ส่วนนโยบายใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือนเป็นการถาวรแล้วให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระนั้น นายธนิต กล่าวว่า เป็นตัวอย่างนโยบายประชานิยมที่ชัดเจน ซึ่งสุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้องผลักภาระลงมาสู่ผู้บริโภคด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นห่วงว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่มีสภาพคล่องต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตจึงไม่น่ามีผลกระทบมากนัก

สำหรับเหตุปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้นนั้น นายเจน กล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนในจุดที่เกิดเหตุยังไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันการค้าไทย-กัมพูชามีมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือมีสัดส่วนต่อจีดีพีประมาณ 0.8-0.9% ขณะที่การค้าชายแดนไทย-กัมพูชามีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือมีสัดส่วนเพียง 0.5% เท่านั้น แต่ยอมรับว่า หากสถานการณ์รุนแรงอาจมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าผ่านไปยังเวียดนาม ขณะที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง เห็นได้จากนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวนครวัดยกเลิกทัวร์แล้ว 100% หากท่องเที่ยวทรุดตัวลงจะกระทบเศรษฐกิจไทยและธุรกิจเอสเอ็มอี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ