ม.หอการค้าฯ เผยแรงงานไทยต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรงอีกอย่างน้อย 9 บ./วันทันที

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 29, 2011 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยทั่วประเทศ ที่สำรวจจากประชาชนตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-27 เม.ย. 54 พบว่า แรงงานกว่า 37.2% เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเหมาะสมน้อย ส่วน 35.3% เห็นว่าเหมาะสมปานกลาง และ 13.7% ไม่เหมาะสม โดยค่าแรงขั้นต่ำควรเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 9 บาท/วัน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการให้ขึ้นทันที

สำหรับทัศนะต่อลักษณะการเปลี่ยนแปลงค่าแรงขั้นต่ำนั้น 70.3% ต้องการให้ปรับค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ภายใน 2 ปี 24.1% ให้เพิ่มขึ้น 25% ภายใน 2 ปี และ 5.6% ให้ปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนสถานภาพของแรงงานไทยนั้น 88.4% ระบุมีภาระหนี้ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวัน ซื้อยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล และซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉลี่ยมีหนี้สิน 87,600 บาท/ครัวเรือน ผ่อนชำระ 5,263 บาท/เดือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 53.3% ผ่อนชำระ 4,418 บาท/เดือน และนอกระบบ 46.7% ผ่อนชำระ 4,097 บาท/เดือน ซึ่ง 69.3% มีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ และ 30.7% ไม่มีปัญหา

ด้านสถานภาพทางการเงินของแรงงานนั้น 73.3% มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาน้ำมันแพง และรายได้ลดลง ซึ่ง 34.5% แก้ปัญหาด้วยการขายและจำนำสินทรัพย์ ส่วน 32.6% กู้ยืม อีก 24.2% ขอความช่วยเหลือจากญาติที่น้อง และ 8.7% นำเงินออมออกมาใช้ อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือดูแลค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่จำเป็น, เพิ่มสวัสดิการแรงงาน, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, ดูแลช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ