หอการค้า คาด GDP ปี 54 มีโอกาสโต 4.0-4.5% หากการเมืองมีเสถียรภาพ-ศก.โลกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2011 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 54 ว่า มีความเป็นไปได้ถึง 60% ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโต 4.0-4.5% หากการเมืองมีเสถียรภาพ การเลือกตั้งผ่านไปได้อย่างปรกติ รัฐบาลสามารถดำเนินการได้หลังจากเลือกตั้ง, เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัญหาที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขาดความเชื่อมั่น, ไม่มีผลกระทบจากสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ คาดว่า เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8%-4.2% ราคาน้ำมันอยู่ที่ 100-120 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.3-30.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว 4.6-5.0% โดยมีความเป็นไปได้ 30% หากการเมืองมีเสถียรภาพ การเลือกตั้งผ่านไปได้อย่างปรกติ รัฐบาลสามารถดำเนินการได้หลังจากเลือกตั้ง, เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ และไม่มีผลกระทบจากสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น

ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 4.0-4.5% ราคาน้ำมันอยู่ที่ 90-100 เหรียญต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.0-30.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกอยู่ระหว่าง 17.6-22.4%

และมีโอกาสราว 10% ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว อยู่ที่ 3.5-3.9% หากการเมืองขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง มีผลกระทบจากสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5-3.9% ราคาน้ำมันอยู่ที่ 120-130 เหรียญต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.8-30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกอยู่ระหว่าง 10.1-15.3%

สำหรับปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังมาจากการใช้จ่ายช่วงเลือกตั้ง ที่คาดจะมีเงินสะพัด 40,000-50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการ ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวระดับสูง และจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาราคาน้ำมันที่สูงต่อเนื่อง ราคาสินค้าแพง ภัยธรรมชาติ สถานการณ์ทางการเมือง และภัยก่อการร้าย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก รวมทั้งหากโลกถูกคุกคามจากภัยก่อการร้าย จนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันแพงเกิน 120-130 ดอลลาร์/บาร์เรล อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความเสียหายจากสึนามิ หนี้สาธารณของยุโรป และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง ปัญหาภัยธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ