ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ) แนะรัฐบาลไทยเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันอีก 30 วัน เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการจัดหาน้ำมันเพิ่มจากแหล่งในแอฟริกาตะวันตก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง
"ไออีเอแนะนำว่าไทยควรจัดหาน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น แอฟริกาตะวันตก เพื่อเป็นทางเลือกลดความเสี่ยง เพราะปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพิงน้ำมันจากตะวันออกกลางมีสัดส่วนร้อยละ 60-70 ดังนั้นหากเกิดปัญหามีความไม่สงบในตะวันออกกลาง และมีการปิดอ่าวจะทำให้ไทยขาดแคลนน้ำมัน" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังประชุมประเมินแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย ระหว่างกระทรวงพลังงานกับไออีเอ
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ไออีเอให้การยอมรับการจัดทำแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของไทยว่าเป็นต้นแบบที่ดีในระดับอาเซียน แม้ไทยจะไม่ได้เป็นสมาชิกของไออีเอ โดยไออีเอเห็นว่าไทยต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับสภาวะวิกฤตพลังงาน อาทิ การกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และการกระจายที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ
โดยแผนรองรับสภาวะวิกฤตการขาดแคลนน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้าของไทย จะเริ่มตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง หรือตั้งแต่การจัดหาน้ำมันดิบ ปัญหาโรงกลั่นน้ำมัน และการขนส่งภายในประเทศ
นอกจากนี้ ไออีเอยังแนะนำให้รัฐบาลไทยจัดทำน้ำมันสำรองโดยภาครัฐในสัดส่วนประมาณ 30 วันของความต้องการใช้ จากปัจจุบันมีการสำรองเฉพาะภาคเอกชน ทั้งสำรองทางกฎหมายและการค้าประมาณ 60 วัน ซึ่งหากภาครัฐลงทุน ประเทศไทยจะมีสำรองเพิ่มเป็น 90 วัน ซึ่งหากคำนวณเบื้องต้น รัฐบาลต้องลงทุนเพิ่มประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดจากปริมาณความต้องการน้ำมันที่ 900,000 บาร์เรลต่อวัน และราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ไออีเอยังแนะนำให้โรงไฟฟ้าของประเทศไทยมีการสำรองน้ำมันเตา และดีเซล ในสัดส่วนประมาณ 10 วันเพื่อรองรับกรณีการจัดส่งก๊าซธรรมชาติมีปัญหา รวมทั้งแผนระยะกลางและยาว แนะนำให้ไทยใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายมากขึ้น จากปัจจุบันพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนร้อยละ 70 และยังแนะนำให้ไทยมีความร่วมมือด้านพลังงานในระดับอาเซียนมากขึ้นด้วย
ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ไออีเอได้ชื่นชมแผนรองรับกรณีก๊าซฯ ขาดแคลนในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตสำรองก๊าซฯ ของประเทศจะลดลง หลังจากที่จะผลิตได้สูงสุดในปี 2559 ซึ่งจะมาจากแหล่งอ่าวไทย และพม่า ประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมาจากการนำเข้าแอลเอ็นจี 10 ล้านตัน หรือประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงแนะนำให้ไทย จัดหาแอลเอ็นจีเพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว
"ปัจจุบันความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทยในอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 3,600-3,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้าจากพม่า 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีก๊าซฯ จากแหล่งปลาทองของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย เข้าระบบอีก 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งบงกชใต้เข้าระบบต้นปี 2554 อีก 330 ล้านบูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในปี 2555 จะมีก๊าซฯ จากแหล่ง M9 ในพม่า เข้าระบบอีก 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน" นายทรงภพ กล่าว
ขณะที่นายแอด แวน โบฮีเมน(Aad Van Bohemen) หัวหน้าส่วนนโยบายฉุกเฉิน ไออีเอ กล่าวว่า การที่รัฐบาลแทรกแซงราคาพลังงาน เช่น แอลพีจี ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ความต้องการก๊าซเพิ่มขึ้น ประเทศไทยต้องลงทุนเพื่อการนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยง ดังนั้นหากลดการนำเข้าและนำเงินส่วนนี้มาลงทุนคลังสำรองน้ำมันภาครัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า