รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ (อาเซียนบวกสาม) เปิดฉากการประชุมร่วมกันในวันนี้ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และเตรียมตอบรับการเปิดตัวหน่วยงานกำกับดูแลเศรษฐกิจประจำภูมิภาค ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความร่วมมือทางการเงินและป้องกันวิกฤตการเงินในภูมิภาค
ขณะเดียวกันบรรดารัฐมนตรียังมีแนวโน้มว่า จะลงมติให้ผู้ว่าการธนาคารเข้าร่วมการประชุมตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างครอบคลุม ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะเติบโตอย่างยั่งยืน
หน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีชื่อว่า สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่สิงคโปร์ โดยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานเพื่อตัดสินใจอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินให้กับประเทศสมาชิก ภายใต้ข้อตกลงสวอปเงินตราต่างประเทศมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ที่รู้จักกันในชื่อ กองทุนพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization: CMIM)
ร่างแถลงการณ์ร่วมซึ่งจะได้มีการเปิดเผยหลังการประชุมระบุว่า "บรรดารัฐมนตรีหวังว่า AMRO จะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในเร็ววันนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการตรวจพบความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ การใช้มาตรการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพของ CMIM"
ร่างแถลงการณ์ร่วมยังระบุว่า บรรดารัฐมนตรีจะแสดงท่าทีเชิงบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภูมิภาค พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพราะอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศและการส่งออกที่สดใส
อย่างไรก็ตาม ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย อาทิ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาอาหารที่สูงขึ้น เงินทุนจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้าบางประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซึ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง รวมถึงผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นซึ่งทำให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ตามมา
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มอาเซียนประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สำนักข่าวเกียวโดรายงาน