นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า การทำงานในช่วง 2 ปี 8 เดือน หลังเข้ารับตำแหน่งฯ เมื่อเดือน ก.ย.51 ได้เร่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นผ่าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ในการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งปิโตรเลียมต่างๆ อาทิ แหล่ง M9 ในประเทศสหภาพพม่า ซึ่งจะมีก๊าซฯ เข้าระบบในอีก 2 ปีข้างหน้า, แหล่งทรายน้ำมันในประเทศแคนาดา(Oil Sand KKD) ซึ่ง PTTEP เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท สแตทออยล์ รวมถึงการเข้าไปพัฒนาแหล่งมอนทาราในประเทศออสเตรเลีย และยังได้รับสัมปทานเพิ่มขึ้นอีกหลายแหล่ง เช่น แอลจีเรีย โดยภาพรวม PTTEP มีการลงทุนขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 42 โครงการ ใน 13 ประเทศทั่วโลก
ส่วนด้านไฟฟ้าได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นทั้งพม่าและลาว เดินหน้าปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP 2010) และเร่งดำเนินการแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี โดยมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 25 ใน 20 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 30 ล้านตันต่อปี รวมทั้งผลักดันแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ระยะ 15 ปี ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศเพิ่มขึ้นจากกว่าร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2565 ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 42 ล้านตันต่อปี ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ 460,000 ล้านบาทต่อปี โดยได้ดำเนินโครงการกลไกพัฒนาที่สะอาด(CDM) ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้ต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและให้ใบรับรองผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ DOE ทำให้สามารถอนุมัติการขายคาร์บอนเครดิตได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่ผ่านการพิจารณากว่า 130 โครงการ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้แบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนโดยการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี), ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 90 หน่วย ให้ใช้ไฟฟรีเป็นการถาวร อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้มีการชดเชยราคานำเข้าแอลพีจี ตั้งแต่เดือน มี.ค.51 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท
รมว.พลังงาน กล่าวว่า อยากฝากให้ รมว.พลังงานคนใหม่สานต่อนโยบายเดิมที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยส่วนตัวเป็นห่วงราคาพลังงานที่สูงขึ้นในอนาคต ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยขับเคลื่อนควบคู่ไปกับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม หากตนเองได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็พร้อมที่จะกลับมารับตำแหน่ง รมว.พลังงานอีกครั้ง เพราะเป็นกระทรวงที่ตนเองได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยบริหารประเทศ โดยจะเร่งเดินหน้านโยบายเดิมที่ได้ทำไว้
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม กลับไปพิจารณาทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ โดยให้คำนึงถึงผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การประหยัดพลังงาน และความปลอดภัยเป็นสำคัญนั้น นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ชี้แจง ครม.ว่า การคำนวณโครงสร้างภาษีจากการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานทดแทน ทั้งไบโอดีเซล เอทานอล และก๊าซธรรมชาติ ควรคำนวณตั้งแต่ต้นทางการปลดปล่อยของเสียจากรถยนต์ ซึ่งเป็นหลักที่ทั่วโลกใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่หลักการคำนวณของกระทรวงการคลัง คำนวณเฉพาะการปล่อยของเสียที่ปลายท่อรถยนต์เท่านั้น ทำให้อัตราภาษียังคงอยู่ในระดับสูง เช่น กรณีของภาษีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน อี85 หากคำนวณตามหลักสากล ตั้งแต่กระบวนการปลูกพืชจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 60 ภาษีอี85 ก็จะถูกลง เป็นประโยชน์ต่อเกษตรและประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน หากในอนาคตราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก ก็จะสามารถพึ่งพิงแหล่งพลังงานในประเทศได้ โดย ครม.สั่งให้หน่วยงานทั้งหมดจัดทำข้อสรุปมาเสนออีกครั้งในช่วง 4 เดือนหลังจากนี้
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกส่วน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะ 15 ปีของประเทศ
ส่วนกรณีการสนับสนุนรถไฟฟ้า(ไฮบริด)นั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะยังคงมีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ หากยังส่งเสริมรถยนต์ไฮบริดมากขึ้นก็จะยิ่งเกิดปัญหาทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงจากการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ และไม่เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ