นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยความคืบหน้าการแก้กฎหมายบำเหน็จบำนาญเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอดมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 สำหรับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. และ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 สำหรับผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข.
ส่วนวิธีปฏิบัตินั้นต้องออกกฎกระทรวง 2 ฉบับเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงิน พ.ศ.2554 เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงฉบับแรกสำหรับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนกฎกระทรวงอีกฉบับสำหรับผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข.อยู่ในขั้นตอนการส่งร่างกฎกระทรวงฯ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สำหรับผู้มีสิทธิที่จะนำบำเหน็จตกทอดไปค้ำประกันการกู้เงิน ได้แก่ ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพลภาพ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้รับบำนาญต้องแจ้งให้ผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดทราบก่อน เพราะหากไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้จะต้องนำบำเหน็จตกทอดไปใช้หนี้เงินกู้ก่อน จำนวนเงินบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับก็จะลดน้อยลงไป
โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมเรื่องระบบการตรวจสอบสิทธิ การตรวจสอบข้อมูล และการอนุมัติวงเงินบำเหน็จตกทอด ระหว่างกรมบัญชีกลาง ส่วนราชการ และธนาคารเรียบร้อยแล้ว
สำหรับเงื่อนไขการกู้เงินเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย วงเงินที่ให้กู้ หรือระยะเวลาการผ่อนชำระคืนเงินกู้นั้น ได้มีการประชุมหารือกับธนาคารมาเป็นระยะๆ ซึ่งจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ โดยจะได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับธนาคารต่อไป
ปัจจุบันมีผู้รับบำนาญจำนวน 435,588 คน จ่ายเงินบำนาญรายเดือนๆ ละ 7,594.29 ล้านบาท แบ่งผู้รับบำนาญเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้รับบำนาญปกติจำนวน 248,705 คน และผู้รับบำนาญสมาชิก กบข.จำนวน 186,883 คน ผู้รับบำนาญกลุ่มแรกจะสามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ก่อน โดยคาดว่าจะดำเนินการยื่นคำขอได้ประมาณเดือน ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข.คงต้องรออีกซักระยะหนึ่งเนื่องจากต้องผ่านกระบวนการประกาศกฎกระทรวงเสร็จเรียบร้อยก่อน