พพ.คาดการใช้พลังงานทดแทนปี 54 มีสัดส่วน 14% แม้ Q1 ต่ำกว่าเป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทดแทน (พพ.) กล่าวว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ในระยะแรกหรือสิ้นสุดปี 2554 ตามแผนจะต้องการใช้ใช้พลังงานทดแทนสัดส่วน 15.6% ของการใช้พลังงานทั้งหมด แต่จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554 มีการใช้ในสัดส่วน 11.7% เท่านั้น แต่คาดว่าทั้งปีนี้จะได้ 14% ส่วนเป้าปี 2565 จะต้องทำให้ได้ 20% ตามแผน

สำหรับผลการส่งเสริมพลังงานทดแทนในไตรมาสแรกปีนี้ ในภาพรวมยังคงต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย โดยพลังงานลมในไตรมาสแรก มีประมาณ 7 เมกะวัตต์ จากเป้าในปีนี้ที่ตั้งไว้ 115 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าในปีหน้าจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากจะมีโครงการเข้ามาประมาณ 1,150 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานน้ำได้ 60 เมกะวัตต์ จากเป้าในปีนี้ที่ 165 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานชีวมวลทำได้ 1,730 เมกะวัตต์ จากเป้าที่ 2,800 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ เพราะมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในเรื่องการส่งเสริมจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยังมีการต่อต้านจากชุมชนอยู่ จึงต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น

ส่วนก๊าซชีวภาพไตรมาสแรกปีนี้ทำได้ 113 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินเป้าหมายแล้ว โดยในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 60 เมกะวัตต์ และในปี 2565 ตั้งเป้าไว้ที่ 120 เมกะวัตต์ เนื่องจากส่วนใหญ่สนใจที่จะนำสิ่งของเหลือใช้จากการเกษตรมาใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพมากขึ้น รวมถึงยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าโครงการอื่น จึงอาจจะมีการปรับเป้าหมายการผลิตก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้นอีก ส่วนขยะ สามารถผลิตได้ 13 เมกะวัตต์ จากเป้าปีนี้ที่ 78 เมกะวัตต์ ส่วนเป้าปี 2565 จะอยู่ที่ 160 เมกะวัตต์ ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้าน่าจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีผลตอบรับที่ดีขึ้น

ด้านการใช้เอทานอลในไตรมาสแรกมีการใช้อยู่ที่ 1.3 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้จะมีการใช้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านลิตรต่อวัน แต่ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก หากรัฐบาลยังไม่ยกเลิกเบนซิน 91 ที่ปัจจุบันมีการใช้ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เบนซิน 91 และจำเป็นต้องเร่งให้มีการใช้รถยนต์ อี85 และ อี20 ให้มากขึ้น

รวมถึงขยายสถานีบริการ อี 85 ให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมี 10-11 แห่ง ซึ่งทาง บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ก็มีแผนที่จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่งในปีนี้ ส่วน บมจ.ปตท.(PTT)อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มเช่นกัน ขณะที่กำลังผลิตเอทานอลของไทยขณะนี้อยู่ที่ 2.9 ล้านลิตร จากจำนวน 19 โรงงาน และในปีนี้จะมีโรงงานก่อสร้างเสร็จอีก 5 แห่ง กำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1.8 ล้านลิตร

ส่วนไบโอดีเซล กระทรวงพลังงานเตรียมทำเป็นดีเซลกรีน ซึ่งจะเป็นชื่อใหม่ของน้ำมันดีเซลที่ขายหน้าสถานีบริการ โดยดีเซลกรีนจะมีส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ไม่ต่ำกว่า 3% และไม่เกิน 5% หรือน้ำมันไบโอดีเซล บี3 หรือ บี5 เดิม แต่ที่เปลี่ยนชื่อเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนเหมือนปัจจุบัน ที่เปลี่ยนการขายบี2 เป็น บี3 เป็น บี5 ทำให้เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ แต่จากผลการศึกษาพบว่า หากผสมไบโอดีเซลเกิน 5% จะไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ดังนั้น หากใช้ชื่อดีเซลกรีนก็จะส่งเสริมการใช้ได้ง่ายขึ้น

ขณะนี้กำลังหารือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยืนยันตัวเลขสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อขยับสูตรไบโอดีเซลจาก บี3 เป็นไบโอดีเซล บี4 ในเร็วๆ นี้ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า มีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ 2.5 แสนตัน และผลผลิตปาล์มกำลังออกสู่ตลาด ซึ่งการขยับสูตรไบโอดีเซลให้สูงขึ้น ก็จะช่วยดูดซับผลผลิตของเกษตรกร โดยทุกสัดส่วนที่ปรับเกรดเพิ่มขึ้น เช่น ปรับจาก บี3 เป็น บี4 จะมีการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่ม 15,000 ตันต่อเดือน เป็นต้น จากที่สูตร บี3 ขณะนี้ใช้อยู่ที่ 3 หมื่นตันต่อเดือน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การผลิตไบโอดีเซลจะต้องไม่กระทบต่อการนำมาบริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ