นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือสองฝ่าย (ทวิภาคี) กับคณะกรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 5-8 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียว่า ในการหารือกับอินโดนีเซียนั้น ได้ขอให้อินโดนีเซีย ยกเลิกการประกาศใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ในสินค้าโพลิโพรไพลีน ที่นำเข้าจากไทย เพราะไทยไม่ได้ส่งออกสินค้าดังกล่าวในปริมาณมากเกินความต้องการใช้ จนทำให้อุตสาหกรรมภายในของอินโดนีเซียได้รับความเสียหาย อย่างที่อินโดนีเซียกล่าวอ้าง
"การที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้ผลิตของอินโดนีเซียรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศปิดกิจการ จึงทำให้ปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมภายในของอินโดนีเซียได้รับความเสียหาย โดยผู้ผลิตอินโดนีเซียยังสามารถผลิต และขายสินค้าได้ดี ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียรับจะพิจารณาให้ การใช้มาตรการเซฟการ์ด อาจมีทั้งเก็บภาษีเพิ่มขึ้น หรือกำหนดโควตานำเข้า นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ มาตรการทางภาษี (เอ็นทีบี) กับการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทย รวมถึงแป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวเหนียวจากไทยด้วย" นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อถึงการหารือกับอียูว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองในการเริ่มเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู นอกจากนี้ ยังได้ขอให้อียู สนับสนุนให้ไทยสามารถจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในอียูได้สำเร็จ หลังจากที่ เมื่อปลายปี 53 สมาชิกอียู 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ คัดค้าน ขณะนี้ไทยได้ยื่นหนังสือคัดค้านการคัดค้านดังกล่าวไปแล้ว และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินทางไปหารือกับทั้ง 5 ประเทศในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน ยังได้ขอให้อียูยกเลิกการประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย หลังจากที่ไทยปลอดเชื้อไข้หวัดนกมานานกว่า 2 ปี ตามมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่าประเทศ (โอไออี) ซึ่งอียูแจ้งว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และอาจจะมีข่าวดีโดยอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยได้ในเร็วๆ นี้