ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เผยดัชนีรวมภาคการค้าและบริการ(เอสเอ็มอี) ซึ่งมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการประจำเดือน มี.ค.54 อยู่ที่ 48.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 47.0 ในเดือน ก.พ.54 โดยดัชนีภาคค้าปลีกและภาคบริการสูงขึ้น แต่ดัชนีภาคค้าส่งยังปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น
"ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการประจำเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบว่าดัชนีรวมภาคการค้าและบริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 47.0 เพิ่มขึ้น 1.0"นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สสว.กล่าว
ดัชนีภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 46.5 จากระดับ 45.3 เพิ่มขึ้น 1.2 ส่วนดัชนีภาคบริการอยู่ที่ระดับ 50.3 จาก 48.9 เพิ่มขึ้น 1.4 และดัชนีภาคค้าส่งลดลงอยู่ที่ 46.7 จากระดับ 47.2 ลดลง 0.5 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 36.8 และ 46.0 จากระดับ 42.1 และ 47.8 ลดลง 5.3 และ 1.8 ตามลำดับ
สาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีในเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น การส่งออกยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.9% การอุปโภคบริโภคสูงขึ้น รวมทั้งผลจากราคาพืชผลการเกษตรอยู่ในระดับที่ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากกว่าปกติ ที่สำคัญการที่รัฐบาลมีแนวทางจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร ไปจนถึงปลายเดือน มิ.ย.54 ช่วยให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลเรื่องต้นทุน
เมื่อพิจารณาเป็นประเภทกิจการ พบว่า ดัชนีภาคค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีก(สมัยใหม่) เพิ่มขึ้นในระดับสูงอยู่ที่ 45.8 จากระดับ 44.0 เพิ่มขึ้น 1.8 เป็นผลจากการที่ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของฝากกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดยาว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันรัฐบาลมีแนวทางจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.54 ช่วยให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลลงได้ระดับหนึ่ง
ดัชนีภาคบริการ กิจการบริการด้านการก่อสร้าง เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 50.0 จากระดับ 46.1 เพิ่มขึ้น 3.9 เป็นผลจากผู้ประกอบการมียอดการให้บริการเพิ่มขึ้นจากการให้บริการซ่อมแซมสถานที่ราชการ สถานประกอบการ และที่พักอาศัย ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่วนดัชนีภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 50.4 ลดลง 2.4 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลด้านต้นทุนการประกอบการ
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 51.4 จากระดับ 51.1 เพิ่มขึ้น 0.3 โดยดัชนีภาคค้าปลีก และภาคบริการ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.0 และ 52.1 จากระดับ 50.0 และ 51.8 เพิ่มขึ้น 1.0 และ 0.3 ตามลำดับ ส่วนดัชนีภาคค้าส่งลดลงอยู่ที่ 50.8 จากระดับ 53.0 ลดลง 2.2 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 45.4 และ 50.4 จากระดับ 53.0 และ 54.0 ลดลง 7.6 และ 3.6 ตามลำดับ