ก.เกษตรฯ เจรจาความร่วมมือสหรัฐหนุนเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 11, 2011 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนางคริสตี แอนน์ เคนนี ( H.E.Ms.Kristies Anne Kenney ) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า ประเด็นที่หารือครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเสนอขอส่งออกผลไม้สู่ตลาดสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 5 ชนิด คือ แก้วมังกร ฝรั่ง ส้มโอ มันสำปะหลัง และฟักทอง และได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช (PRAs) แล้ว จึงขอความร่วมมือให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้เร่งรัดการพิจารณาและให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรดังกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยังได้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการ โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2553 APHIS/USDA ได้ร่วมประชุมเป็นครั้งแรกกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อหารือด้านเทคนิคการค้าสินค้าเกษตร ส่งผลให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าเกษตร และการพิจารณาความร่วมมือเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ คาดหวังให้เกิดการขยายความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ต่อไป

พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ยังมีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการ Third Party Certification Program สินค้ากุ้งของสหรัฐฯ ต่อไป ภายหลังเข้าร่วมโครงการในปี 2551 เพื่อเป็นการศึกษาและเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเด็นที่สหรัฐอเมริกาได้หยิบยกมาหารือ คือ เงื่อนไขการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากสหรัฐฯ โดย APHIS ได้ส่งเงื่อนไขการนำเข้าให้ทางกรมปศุสัตว์พิจารณาสัตว์หลายชนิด ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้พิจารณาเงื่อนไขการนำเข้าม้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกรมปศุสัตว์ได้กำหนดการสิ้นสุดวันผ่อนผันในการตรวจรับรองฟาร์ม/ แหล่งผลิตต้นทางของประเทศที่นำเข้า ในการนำเข้าตัวอ่อน น้ำเชื้อสุกร น้ำเชื้อวัว และลูกไก่ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ดังนั้น หากสหรัฐประสงค์ที่จะนำเข้าสินค้าดังกล่าว ก็ต้องหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขกับกรมปศุสัตว์ต่อไป

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ขอให้ไทยลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้า DDGS (distillers dry grains and solubles) หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์โปรตีนสูง โดยไทยได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาอัตราภาษีศุลกากรสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อแสวงหาข้อมูลรอบด้านที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอัตราภาษีศุลกากรสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เหมาะสม และเสนอแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยให้ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้น้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและการศึกษาถึงผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ