นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มจะมีการหาเสียงกับกลุ่มคนในอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนโยบายด้านค่าจ้างขั้นต่ำของพรรคการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่คือพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย
โดยพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50 บาท/วัน ภายใน 2 ปี ขณะที่พรรคเพื่อไทยใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน แต่ไม่ระบุเวลาว่าจะปรับขึ้นทันทีหรือว่าภายในกี่ปี แสดงว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 80 บาท/วัน
นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังเสนอปรับขึ้นเงินเดือนระดับปริญญาตรีให้อยู่ที่ 15,100 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 5,000 บาท
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หอการค้าไทย พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่รัฐบาลปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น หมายถึงต้นทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และหากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถูกผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะทำให้แทนที่ประชาชนแทนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นการที่รายได้ที่แท้จริง หรืออำนาจซื้อของประชาชนลดลงได้
"มองว่าการใช้นโยบายดังกล่าว คงต้องพิจารณาถึงผลกระทบสุทธิที่เกิดขึ้นกับ ระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงควรจะให้เหมาะสม และเป็นไปตามกลไกตลาด ตามทักษะฝีมือแรงงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
จากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีแนวนโยบายที่จะสร้างให้แรงงานมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แต่สิ่งที่ต้องกลับมาพิจารณาอีกทางด้านหนึ่งคือ ภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการในฐานะผู้จ้างงานว่าสามารถรับภาระจากการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนได้หรือไม่ เพราะการที่รัฐบาลปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั่นก็หมายถึงต้นทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตามด้วย โดยหากพิจารณาเบื้องต้นถึงภาระต้นทุนที่เอกชนต้องเพิ่มขึ้นต่อปี
และสิ่งที่ตามมาคือ การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า ที่เพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผลักให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ทีเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนแทนที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกลับส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงหรืออำนาจซื้อของประชาชนลลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงเกินกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายดังกล่าวประมาณ 0.5%
ดังนั้น การใช้นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนที่พรรคต่าง ๆ เสนอเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงนั้น คงจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบสุทธิที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามภาคเอกชน หอการค้าไทยเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายในการปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับแรงงาน แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการหากรัฐบาลมีการดำเนินนโยบายดังกล่าว ก็คือ
1. ควรมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (productivity) ของแรงงานให้สูงขึ้นคุ้มกับค่าแรง โดยการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ ทั้งนี้ ในระยะสั้นควรส่งเสริมให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือขั้นต้น ผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานของภาครัฐ หรือให้สถานประกอบการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้เองหรือส่งไปอบรมพัฒนาฝีมือกับหน่วยงานภายนอกโดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 3 - 4 เท่าเพื่อยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงงานทั้งประเทศ นอกจากนี้ควรมีใบประกาศต่างๆ เมื่อแรงงานได้มีการผ่านการอบรมหรือสร้างทักษะในการทำงาน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการให้ผลตอบแทนจากการมีทักษะเฉพาะทางที่มากขึ้น
โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ขอให้สอดคล้องกับความเห็นชอบของคณะกรรมการไตรภาคี ส่วนการขึ้นค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (productivity) ของแรงงานนั้น ก็ขอให้เป็นไปตามแนวทางการปรับค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพ 11 กลุ่มวิชาชีพ ที่ทาง กกร. โดยคุณสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการอยู่
2. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องค่อย ๆ ปรับให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาด เพื่อที่ภาคเอกชนจะสามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะหากว่ารัฐบาลปรับขึ้นทันที อาจทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถที่จะปรับตัวและรับกับต้นทุนดังกล่าวที่สูงขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้ว การขึ้นค่าจ้างที่เร็วเกินไปและในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนั้น อาจก่อให้เกิดการชะลอตัวของการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศในไทย เพราะค่าจ้างถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจในการลงทุน
3. การสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน เช่น การลดภาษีนิติบุคคลโดยเฉพาะสำหรับสถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนมากหรือในสัดส่วนที่สูงในกระบวนการผลิต ประกอบกับการปรับลดต้นทุนด้าน logisitics ผ่านการสร้างระบบ logisitics ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
4. การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ
"ทั้ง 4 ข้อ ทางหอการค้าไทยเห็นว่าเป็นแนวทางที่เป็นไปได้หากพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจะดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแต่ละพรรคที่ทำการเสนอ และจะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้"
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณายกระดับรายได้ภาคเกษตร นอกเหนือจากผู้ใช้แรงงานให้มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในระยะยาว