นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นต่ออายุโครงการระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ออกไปอีก 10 ปี ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยยังคงกำหนดกฎเกณฑ์การผลิตสินค้าให้ได้แหล่งกำเนิดตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งยังคงขอบเขตรายการสินค้าที่มีสิทธิลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าญี่ปุ่นภายใต้ GSP โดยญี่ปุ่นยังคงให้สิทธิ GSP แก่ไทยจำนวน 102 รายการ เช่นเดิม
สินค้าจำนวน 102 รายการที่ญี่ปุ่นยังคงให้สิทธิ GSP แก่ไทยได้ช่วยผลักดันการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 มีมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ GSP มูลค่า 91.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 108.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.59 และในปี 2554 (ม.ค.-ก.พ.) มีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกมูลค่า 5.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 17.96 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการขอใช้สิทธิ GSP เช่น ปลาปรุงแต่ง ขนมปัง เป๋าฮื้อ ไม้อัด เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ซ เป็นต้น
GSP ได้ช่วยผลักดันให้การส่งออกรวมทั้งสิ้นของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2552 มีมูลค่า 15,655.99 ล้านเหรีญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 20,416.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.41 และล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2554 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้นมูลค่า 3,795.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.86 จากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งไทยส่งออกไปญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้นมูลค่า 2,856.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความตกลง JTEPA และ AJCEP ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 และวันที่ 1 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมาตามลำดับ เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการขยายลู่ทางการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น แต่สินค้าจำนวน 102 รายการที่ญี่ปุ่นยังคงให้สิทธิ GSP แก่ไทยดังกล่าว เป็นโครงการให้สิทธิลดหรือยกเว้นภาษีเป็นการชั่วคราว โดยมีการต่ออายุโครงการเป็นระยะๆ ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเจรจาให้ญี่ปุ่นโอนสินค้าจำนวน 102 รายการที่ญี่ปุ่นยังคงให้สิทธิลดภาษีแก่ไทยภายใต้ GSP ไปลดภาษีภายใต้ JTEPA ซึ่งจะให้สิทธิลดหรือยกเว้นภาษีมั่นคงกว่า GSP
ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ส่งออกของไทยจะได้เลือกใช้สิทธิลดภาษีศุลกากรนำเข้าญี่ปุ่น นอกเหนือจากการได้สิทธิลดภาษีศุลกากรนำเข้าญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ส่งออกของไทยจึงควรจะได้พิจารณาว่าระบบ GSP JTEPA และ AJCEP ระบบไหนจะให้สิทธิพิเศษลดภาษีศุลกากรนำเข้าญี่ปุ่นได้มากกว่ากัน